ประวัติศาสตร์(คร่าวๆ) อนิเมซูเปอร์ฮีโร่ญี่ปุ่น

 

 

ซูเปอร์ฮีโร่ ถือเป็นสิ่งที่อยู่คู่กับวัฒนธรรมทั่วทุกมุมโลก ตั้งแต่ ฝั่งโลกตะวันตก ยันถึงโลกตะวันออก โดยการ์ตูนแนวซูเปอร์ฮีโร่นั้น ได้รับความนิยมมาตั้งแต่ฉบับคอมิคอเมริกัน และได้รับการต่อยอดให้มีความแมสมากยิ่งขึ้น กับฉบับหนังใหญ่ที่กวาดรายได้จากผู้ชมทั่วโลกอย่างมหาศาล

สำหรับการ์ตูนฮีโร่ฝั่งญี่ปุ่นนั้น ก็มีประวัติศาสต์ยืนยาวไม่แพ้กัน ในบทความนี้เราจะเล่าเรื่องราวความเป็นมาเกี่ยวกับอนิเมแนวฮีโร่ของญี่ปุ่นในยุคสมัยต่างๆ ที่เราได้แปลเนื้อหาคร่าวๆมาจากต้นฉบับของ Crunchyroll ซึ่งจุดเริ่มต้นของซูเปอร์ฮีโร่ญี่ปุ่น ก็ต้องย้อนกลับไปตั้งแต่ ยุคศตวรรษที่ 17 จนมาถึงการกำเนิดของ Astro Boy เจ้าหนูปรมาณู ก่อนที่จะมาปังปุริเย่ช่วงยุค 90 ไปกับ Sailor Moon ยันจนถึง My Hero Academia ที่กำลังเป็นขวัญใจของคออนิเมยุคใหม่ ซึ่งแต่ละเรื่อง ในแต่ละยุคสมัย ต่างได้สร้างความตราตรึงใจให้แก่ผู้ชมไม่แพ้กัน



โรงละครญี่ปุ่น กับ ฮีโร่ผู้โดดเด่นที่สุดในโลก

ซ้าย : การแสดงคาบุกิ , ขวาบน : บุนราคุ , ขวาล่าง : คามิชิไบ


คำจำกัดความของซูเปอร์ฮีโร่ญี่ปุ่น มีรากฐานมาจากการแสดงบนโรงละครของญี่ปุ่น ในรูปแบบต่างๆ เริ่มตั้งแต่ คาบุกิ ในศตวรรษที่ 17 ซึ่ง คาบุกิ นั้น เป็นการแสดงที่ผสมผสานกันระหว่างชุดเสื้อผ้า , ดนตรี และ การร่ายรำ ที่จะทำหน้าที่เป็นสื่อกลาง ให้นักแสดงได้แสดงออกในระดับต่างๆ ตามมาด้วย บุนราคุ ที่เป็นการแสดงเชิดหุ่นกระบอก ที่เริ่มตั้งแต่ศตวรรษที่ 19 ซึ่งโชว์ดังกล่าว ได้รับเครดิตในฐานะที่เป็นผู้ริเริ่มด้านสเปเชียลเอฟเฟ็ค ที่มีส่วนสำคัญในการสร้างซีรี่ย์แนวโทคุซัตสุ ที่เน้นนำเสนอตัวละครสัตว์ประหลาด กับ หุ่นยนต์ยักษ์ ในเวลาต่อมา ซึ่งทั้ง คาบุกิ กับ บุนราคุ ยังส่งอิทธพลต่ออนิเมฮีโร่ในยุคปัจจุบันด้วย ทั้งในแง่การโพสท่าอันทรงพลัง , ท่วงท่าการต่อสู้ แล้วก็ การโจมตีที่เสริมความโอเวอร์ดราม่า ของบรรดาตัวเอก ที่มักจะต้องลั่นชื่อท่า ก่อนจะโจมตีศัตรู เป็นต้น

ในช่วงปี 1930 ที่ญี่ปุ่นได้ถือกำเนิด โรงละครกระดาษ หรือ คามิชิไบ ขึ้น (อย่าจำสับกับ "ยามิชิไบ" ที่เป็นชื่อของอนิเมเรื่องหนึ่ง) ซึ่งเป็นการนำเสนอฉากภาพวาด ที่มีการเปลี่ยนแปลงไปตามเหตุการณ์เนื้อเรื่อง ในขณะที่ผู้เล่ากำลังเล่าเรื่องราวอยู่ ซึ่งสิ่งนี้ ยังได้ส่งอิทธิพลต่อมังงะญี่ปุ่นในยุคปัจจุบัน อย่างเช่น ภาพดวงตาขนาดใหญ่โต ที่ใช้สื่อถึงการแสดงอารมณ์ต่างๆ พร้อมกับมีการปิดท้ายเรื่องราวด้วยความตื่นเต้น ชวนให้แฟนๆ ติดตามชมกันมากขึ้น

Golden Bat ผลงานของ Takeo Nagamatsu จัดเป็นหนึ่งในตัวละครซูเปอร์ฮีโร่ที่เก่าแก่สุดของญี่ปุ่น ที่ได้ถือกำเนิดมาจาก คามิชิไบ โดยคาแร็คเตอร์ของ Golden Bat นั้น มองผิวเผิน ก็ไม่ค่อยเหมือนฮีโร่นัก แต่ก็มีอะไรหลายๆอย่างที่คล้ายคลึงกับ Superman ของฝั่งตะวันตก ทั้ง ผ้าคลุมแดง , ความสามารถในการบินได้ แล้วก็ มีฐานลับส่วนตัวของตัวเอง ซึ่งต่อมาเรื่องนี้ได้รับการต่อยอดในรูปแบบอนิเม และ หนังแนวโทคุซัตสุ

Golden Bat


หลังพ้นยุคโรงละครกระดาษ ก็เป็นยุคสมัยบูมของโทคุซัตสุ ที่เป็นการถ่ายทำหนังเนรมิตรพวกสัตว์ประหลาด หุ่นยนต์ ให้มีความสมจริงยิ่งขึ้น ด้วยเทคนิคสเปเชียลเอฟเฟ็ค (โทคุซัตสุ มีความหมายในภาษาญี่ปุ่น แปลว่า special effect ) ซึ่งผู้ที่ริเริ่มหนังแนวโทคุซัตสุของญี่ปุ่นนั้น คือ Eiji Tsuburaya ผกก. ผู้ให้กำเนิดหนัง Godzilla กับ Ultraman นั่นเอง และจากความสำเร็จอย่างถล่มทลายของ หนัง Godzilla เมื่อปี 1954 ทำให้มีการจัดทำซีรี่ย์แนวโทคุซัตสุ ลงจอทีวี ในเวลาต่อมา เริ่มจาก Moonlight Mask จัดเป็นซีรี่ย์โทคุซัตสุแนวซูเปอร์ฮีโร่เรื่องแรกของญี่ปุ่น เมื่อปี 1958 นำเสนอเรื่องราวของ ฮีโร่สวมหน้ากาก ที่ต่อสู้ผดุงความยุติธรรม ที่ต้องคอยปกปิดตัวตนที่แท้จริงของตัวเอง ไม่ให้ผู้ชมได้เห็น

ซึ่งโชว์ดังกล่าว ได้รับความนิยมอย่างสูงจากผู้ชมในยุคนั้น เคียงคู่กับ Astro Boy เวอร์ชั่นโทคุซัตสุ เมื่อปี 1959 ที่ดัดแปลงมาจากผลงานมังงะดังของ Osamu Tezuka อีกที ซึ่ง Tezuka ได้เขียนมังงะเรื่องนี้ขึ้น เพื่อช่วยให้เด็กๆได้จินตนาการถึงยุคสมัยอนาคตที่ดียิ่งขึ้น หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งก็ทำให้ Astro Boy / Atom กลายเป็นหนึ่งในสิ่งที่ทรงอิทธิพลสูงที่สุดตลอดกาล

Astro Boy เวอร์ชั่นโทคุซัตสุ และ อนิเม




ยุค Renaissance ของ ซูเปอร์ฮีโร่ญี่ปุ่น

Cyborg009


ซูเปอร์ฮีโร่ญี่ปุ่น ได้ย่างก้าวเข้าสู่ยุค Renaissance อันมาจากผลงานของ Shotaro Ishinomori ผู้ได้สร้างสรรค์แฟรนไชส์ซูเปอร์ฮีโร่ ถึง 3 แฟรนไชส์ ในช่วงเวลานั้น ประกอบด้วย Cyborg 009, Kamen Rider, และ Super Sentai โดย Cyborg 009 เริ่มต้นขึ้นเมื่อปี 1964 โดยนำเสนอเรื่องราวของทีมฮีโร่ ผู้สวมใส่ชุดที่เข้ากัน มีพลังพิเศษแตกต่างกัน และ มีเข็มขัดที่เป็นกลไกช่วยในการแปลงร่าง

ซึ่งก็เป็นช่วงเวลาไล่เลี่ยกันกับ การมาของแฟรนไชส์ Ultraman ที่เริ่มต้นขึ้นครั้งแรกจาก Ultra Q ซีรี่ย์ไพล็อตของ Ultraman ที่เน้นนำเสนอเรื่องราวของ ไคจู หรือ สัตว์ประหลาดต่างดาว สายพันธุ์ต่างๆ เป็นหลัก ก่อนจะนำมาซึ่งซีรี่ย์หลักเรื่องแรกของแฟรนไชส์นี้อย่าง Ultraman ที่นำเสนอเรื่องราวของทีมนักวิทยาศาสตร์ผู้พิทักษ์โลก ที่คอยสืบสวนและต่อสู้กับไคจูนอกโลก โดยหนึ่งในสมาชิกของทีม สามารถแปลงร่างเป็น Ultraman ผู้คอยต่อสู้กับพวกไคจู ที่เข้ามาคุกคามโลกมนุษย์

Kamen Rider และ Super Sentai

รวมหมู่ Kamen Rider และ Super Sentai จากงานอีเว้นต์ Kamen Rider x Super Sentai W Hero Festival 2021
(The Tokusatsu Network)


Kamen Rider หรือ ไอ้มดแดง ผลงานเรื่องต่อมาของ Ishinomori จัดได้ว่า เป็นผลงานที่สร้างภาษาให้กับซีรี่ย์ฮีโร่แนวโทคุซัตสุ ซึ่งแรกเริ่มเดิมที ตั้งใจจะให้เป็นซีรี่ย์ทางโทรทัศน์ที่ดัดแปลงจากมังงะ Skullman ของเขา แต่ตัวละครมีการออกแบบใหม่ให้ดูมีความเป็นซูเปอร์ฮีโร่มากขึ้น ที่มีสไตล์การออกแบบที่โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์

ที่สำคัญ หนึ่งในผลงานของ Ishinomori ที่จะขาดเสียไม่ได้ ก็คือ Spider-Man เวอร์ชั่น Toei เมื่อปี 1978 ซึ่งเป็นการนำเอาซูเปอร์ฮีโร่คนดังของฝั่ง Marvel อเมริกัน มาจัดทำในสไตล์ญี่ปุ่นจ๋าๆ ที่ให้ Spidey มานั่งยานรบที่แปลงเป็นหุ่นยนต์ยักษ์ได้ และจากความสำเร็จของ Spider-Man เวอร์ชั่นนี้เอง ทำให้กิมมิคนี้ กลายเป็นสูตรสำเร็จของซีรี่ย์ฮีโร่แนวโทคุซัตสุ ของ Toei เกือบทุกเรื่อง

Spider-Man เวอร์ชั่น Toei



ด้วยพลังของสาวน้อยเวทมนตร์

Sailor Moon


อนิเมซูเปอร์ฮีโร่ญี่ปุ่น ได้รับความนิยมถึงขึตสุด ในช่วงราวยุค 70 และต่อเนื่องยิงยาวมาจนถึงยุค 80 ในช่วงเวลานั้น มีอนิเมแนวฮีโร่ถือกำเนิดมากมาย อาทิ Gatchaman, Cutie Honey, และ Saint Seiya เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ในช่วงยุค 80 นี้ ถือเป็นช่วงเวลาอันรุ่งเรืองของแนวสาวน้อยเวทมนตร์ ซึ่งกล่าวได้ว่า มีขนาดใหญ่ที่สุด ในหมู่คอนเท้นต์ซูเปอร์ฮีโร่ ที่ปรากฏในอนิเม

แม้ว่า สาวน้อยเวทมนตร์ จะเป็นแนวที่อยู่มานาน นับตั้งแต่ Sally the Witch ซึ่งเป็นอนิเมสาวน้อยเวทมนตร์เรื่องแรกของญี่ปุ่น ตามด้วย Cutie Honey ที่สร้างความปังในช่วงยุค 70-80 จนกระทั่ง การมาของ Sailor Moon ที่ถือเป็นการปฏิวัติอนิเมแนวนี้ ซึ่งได้แรงบันดาลใจมาจาก โทคุซัตสุ เป็นหลัก พร้อมกับมีการนำเสนอฉากการแปลงร่างของอัศวินสาวเซเลอร์ มาเป็นลำดับขั้น , การโพสท่วงท่าการต่อสู้ จนถึง การพูด catchphrase หรือ ประโยคฮิตติดปาก ในทุกๆการต่อสู้ ซึ่งความนิยมของ Sailor Moon นี้เอง ก็กลายเป็นสูตรสำเร็จของอนิเมสาวน้อยเวทมนตร์เรื่องอื่นๆตามมา อาทิ Cardcaptor Sakura ที่สาวน้อย Sakura จะต้องมีชุดออกรบอัพเดทใหม่ในทุกตอน จนถึง Pretty Cure ที่เป็นแฟรนไชส์สายน้อยเวทมนตร์ของ Toei ที่ยังคงมีการจัดทำอย่างต่อเนื่อง จนถึงทุกวันนี้ และเป็นหนึ่งในแฟรนไชส์อนิเมซูเปอร์ฮีโร่ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดตลอดกาล

โดย ส่วนประกอบต่างๆ ที่มีอยู่ในซูเปอร์ฮีโร่อเมริกัน ได้มีการนำเสนอในการ์ตูนแนวโชเน็นของญี่ปุ่น ในรูปแบบต่างๆ ตั้งแต่ ยุค 80 จนถึง 2000 ซึ่งหนึ่งในนั้น คือ เรื่องราวการเปิดเผยของ Goku เป็น ชาวไซย่า ใน Dragon Ball Z ที่มักจะถูกนำไปเปรียบเทียบกับ Superman อยู่เช่นกัน ในขณะที่ ตัวเอกการ์ตูนโชเน็นนั้น มีความแตกต่าง จากแนวฮีโร่ที่ถูกกล่าวถึงในที่นี้ อย่างชัดเจน

สาวน้อยเวทมนตร์ ยังคงรักษาองค์ประกอบของซูเปอร์ฮีโร่คลาสสิกไว้หลายอย่าง เช่น ตัวตนที่เป็นความลับ, ท่าโพสของทีม, การเปลี่ยนชุดแต่งกาย และ การนำเสนอที่ช่วยทำให้แนวนี้เป็นรูปเป็นร่างขึ้นมา

เมื่อเข้าสู่ยุค 2000 - Kamen Rider และ Super Sentai นั้น กำลังอยู่ในช่วงเฟื่องฟู แต่สำหรับอนิเมนั้น Tokyo Mew Mew, Ojamajo Doremi และ Pretty Cure สารพัดภาค ต่างช่วยรักษาแนวซูเปอร์ฮีโร่เอาไว้ได้


ยุคสมัยใหม่ของอนิเมซูเปอร์ฮีโร่

My Hero Academia , Tiger & Bunny , One-Punch Man

ตั้งแต่ยุค 2010 เป็นต้นมา หนังซูเปอร์ฮีโร่ ได้รับความนิยมอย่างสูง ไปกับ Iron Man และ หนังเรื่องอื่นๆของ Marvel Cinematic Universe ทำให้ อนิเมญี่ปุ่น ต้องตามเทรนด์หนังฮีโร่ฮอลลิวู้ดกันไป โดยเน้นนำเสนอเรื่องราวของซูเปอร์ฮีโร่แบบตรงไปตรงมาให้มากยิ่งขึ้น เช่น Tiger & Bunny, One-Punch Man และ My Hero Academia อีกทั้ง ในช่วงยุค 2010 นี้ ยังมีอนิเมซูเปอร์ฮีโร่ ที่มีความร่วมสมัย เกิดขึ้นมากมาย อย่างเช่น Tokyo ESP และ Darker Than Black เป็นต้น ซึ่งเรื่องเหล่านี้ ได้มีการนำเอาองค์ประกอบต่างๆที่มีอยู่ในคอมิคซูเปอร์ฮีโร่ตะวันตก เอามาเสริมเติมแต่งเข้าไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับ ชุดคอสตูม แล้วก็ ตัวตนที่เป็นความลับ


สำหรับ My Hero Academia นั้น อาจเป็นตัวอย่างที่เห็นได้ชัดที่สุด ของอนิเมซูเปอร์ฮีโร่ในยุคปัจจุบัน เพราะ ได้ยืมเอาองค์ประกอบของคอมิคซูเปอร์ฮีโร่ฝั่งตะวันตก เอามาใส่แบบจัดเต็มหนักกว่าเรื่องอื่นๆ อีกทั้ง เรื่องนี้ยังเป็นการนำเอาแนว ซูเปอร์ฮีโร่ กับ โชเน็น ที่ได้รับความนิยมสูงสุด จากฝั่งอเมริกา กับ ญี่ปุ่น มาผสมไว้เข้าด้วยกัน ซึ่งบางที อนิเมซูเปอร์ฮีโร่ในอนาคต อาจเป็นการนำเอาเรื่องคลาสสิค อย่าง Dragon Ball Z มาต่อยอด จนกลายเป็น Dragon Ball Super: SUPER HERO ที่ได้เห็น Gohan กับ Piccolo เผชิญหน้ากับ Gamma 1 และ Gamma 2 หุ่นยนต์ดัดแปลงของกองทัพ Red Ribbon ผู้อุปโลกพวกเขาเอง ให้กลายเป็นฮีโร่ ในสายตาของเหล่ามนุษย์ทั่วไป


เมื่อรวมกับ One-Punch Man ที่ยังคงนำเสนอเรื่องราวอย่างต่อเนื่อง รวมไปถึง ความสำเร็จอย่างต่อเนื่องของ My Hero Academia ....ซูเปอร์ฮีโร่เหล่านี้ ต่างก็มีประวัติศาสตร์ของตัวเองในอนิเม เช่นกัน และ ประวัติศาสตร์ของพวกเขาเหล่านี้ จะยังคงดำเนินต่อไปในอนาคต อย่างไม่ต้องสงสัย

อ้างอิงจาก : https://www.crunchyroll.com/anime-feature/2022/10/01-1/feature-a-brief-history-of-superhero-anime-from-astro-boy-to-my-hero-academia


สำนักข่าว K-D News (kartoon-discovery.com)
สามารถอัพเดทข่าวสารเว็บเราได้ผ่าน Twitter และ Facebook
หากนำข่าวจากเราไปเผยแพร่ที่อื่น รบกวนใส่เครดิตให้กับทางเราด้วยครับ ขอบคุณครับ

free hit counter javascript