Tokiwa-So :บอกเล่าตำนานหอพัก จุดกำเนิดเหล่านักเขียนการ์ตูนดังในตำนาน "หอพักโทกิวะ"

สำหรับใครที่ติดตาม ค้นคว้า ข่าวสารการ์ตูนอนิเม มานาน เชื่อว่าบางคนอาจพอคุ้นเคยกับ Tokiwa-So หรือ หอพักโทกิวะ กันบ้างแล้ว แต่สำหรับคนรุ่นหลังๆนั้น แน่นอนล่ะว่า ยังไงคงไม่รู้จักกันแหงๆ คิดว่าคงเป็นแค่หอพักอพาร์ตเม้นต์ธรรมดาๆเท่านั้น แต่หารู้ไม่ว่า อพาร์ตเม้นต์ธรรมดาๆแห่งนี้ เคยเป็นสถานที่รวมตัว ของบรรดานักเขียนการ์ตูนญี่ปุ่นผู้มีชื่อเสียงในสมัยก่อน ไม่ว่าจะเป็น โอซามุ เท็ตซึกะ , Fujiko Fujio หรือ ฮิโรชิ ฟูจิโมโตะ (Fujiko F Fujio) กับ โมโตโอะ อาบิโกะ (Fujiko Fujio A) , ฟูจิโอะ อาคัตซึกะ ,โยชิฮารุ ทสึเงะ , ฮิโรโอะ เทราดะ,โชทาโร่ อิชิโนโมริ (Masked Rider Series) ฯลฯ เป็นต้น ซึ่งพวกเขาเหล่านี้ได้ใช้สถานที่แห่งนี้ในการทำงานเขียนผลงานการ์ตูนของแต่ละคนร่วมกัน พร้อมกับบ่มแชร์ทักษะ ประสบการณ์ จนกลายเป็นจุดกำเนิดของพวกเขาในเส้นทางสายอาชีพนักเขียนการ์ตูน จวบจนกระทั่งพวกเขาประสบความสำเร็จสูงสุด

เกริ่นนำ

โดยหอพักโทกิวะแห่งนี้ เป็นหอพักไม้ขนาดเล็กๆ ราคาถูก ตั้งอยู่ที่ย่านโทชิม่า กรุงโตเกียว ซึ่งได้ก่อสร้างเสร็จเมื่อปี 1952 และอีกไม่กี่ปีต่อมา อ. อ.เท็ตซึกะ และ นักเขียนการ์ตูนจำนวนหนึ่ง ได้เข้ามาอาศัยและได้ใช้สถานที่แห่งนี้ ในการทำงานการ์ตูนร่วมกัน จนถึงปี1982 ถึงแม้ว่า ปัจจุบัน หอพักแห่งนี้จะถูกรื้อถอนไปแล้ว แต่เรื่องราวการรวมตัว อยู่อาศัยร่วมกันราวกับพี่น้อง ของเหล่านักเขียนการ์ตูนดัง ณ สถานที่แห่งนี้ ก็ได้มีการพูดถึงบอกต่อๆกันไป ไม่มีวันจบสิ้น จนอพาร์ทเม้นต์แห่งนี้กลายเป็นสถานที่เลื่องลือของเหล่าคอการ์ตูน และมีการหยิบนำไปแซว ล้อเลียน หรือ บอกเล่ากันตามการ์ตูนอนิเมและภาพยนตร์ยุคหลังๆ

ตำนานหอพักโทกิวะ ที่มีการบอกเล่ากันอีกทีในรูปแบบการ์ตูนอนิเม
ซ้าย - Bokura Mangaka - Tokiwa So Monogatari โดย Toei Animation
ขวา - Ai... Shirisomeshi Kei ni... โดย Fujiko Fujio A

 

อนึ่ง อย่างที่บอกไว้ข้างต้นว่า ปัจจุบัน หอพักแห่งนี้ถูกรื้อถอนไปแล้ว ตั้งแต่ปี 1982 โดยมีตึกรามบ้านช่องใหม่ๆสร้างขึ้นทดแทน แต่ถึงกระนั้น ทางกรุงโตเกียวยังคงให้เกียรติ ด้วยการสร้างอนุสรณ์ที่เป็นการยกย่องเชิดชูเกียรติกลุ่มนักเขียนการ์ตูนแห่งบ้านพักโทกิวะขึ้นมาแทน ณ บริเวณดังกล่าว เมื่อปี 2009

บริเวณหอพักโทกิวะเดิม ที่ได้มีการดัดแปลงทัศนียภาพ + สร้างอนุสรณ์แบบจำลองหอพักโทกิวะเป็นที่รำลึกไว้

 

เพลทที่จัดทำที่รำลึกของเหล่านักเขียนผู้ร่วมสร้างตำนานหอพักโทกิวะ บนแท่นอนุสรณ์

 

 


บุคคลผู้เกี่ยวข้อง (คนอยู่อาศัย+ผู้เยี่ยมเยียน) แห่ง Tokiwa-So ใครเป็นใครกันบ้าง ?

โฉมหน้านักเขียนการ์ตูนผู้ร่วมสร้างตำนานหอพักโทกิวะ วาดโดย Fujiko Fujio
(ภาพจาก http://astroboyworld.blogspot.com)

- โอซามุ เท็ตซึกะ บุรุษผู้ขึ้นชื่อว่าเป็นปรมาจารย์แห่งวงการการ์ตูนญี่ปุ่น ผู้ริเริ่มและพัฒนาศิลปะภาพการ์ตูน+วิธีีการเล่าเรื่อง จนกลายมาเป็น "มังงะ" การ์ตูนญี่ปุ่น ที่เราได้สัมผัสกันในปัจจุบัน ผู้แต่งเรื่อง Tetsuwan Atom เจ้าหนูปรมาณู , เลโอ สิงห์เจ้าป่า , Ribon no Kishi , Hinotori, Buddha ,Black Jack ฯลฯ

- Fujiko Fujio หรือ ฮิโรชิ ฟูจิโมโตะ (Fujiko F Fujio) กับ โมโตโอะ อาบิโกะ (Fujiko Fujio A) คู่หูนักเขียนการ์ตูน ผู้มีผลการ์ตูนที่ได้รับความนิยมในหมู่เด็กๆ คนทุกเพศทุกวัย เป็นอย่างมาก จากผลงาน โดราเอมอน , ผีน้อยคิวทาโร่ , ปาร์แมน , นินจาฮาโตริ ฯลฯ อย่างไรก็ตาม มีเพียง ผีน้อยคิวทาโร่ เท่านั้น ที่ยังคงมีการยกเครดิตให้เป็นผลงานร่วมกันของ อ.ทั้ง 2 ท่านนี้ ในนาม Fujiko Fujio นอกนั้น ก็ได้มีการแบ่งเครดิตผลงานคละๆกันไป คือ โดราเอมอน , ปาร์แมน , Esper มามิ ,จินปุย,คิเทเร็ตสึ เจ้าหนูนักประดิษฐ์ , 21 เอม่อน ฯลฯ เป็นของ Fujiko F Fujio ขณะที่ นินจาฮาโตริ , ผีน้อยไคบุตสึ,เฮ็นเบะกับร่มวิเศษ เป็นของ Fujiko Fujio A

- ฟูจิโอะ อาคัตซึกะ ผู้แต่งเรื่อง Himitsu no Akkochan หรือ หนูน้อยอั๊กโกะจัง หนึ่งในการ์ตูนที่เปิดตำนานการ์ตูนแนวสาวน้อยเวทมนตร์เรื่องแรกๆในประวัติศาสตร์ นอกจากนี้เขายังขึ้นชื่อเป็นปรจารย์การ์ตูนแนวแก๊กแนวขำขันญี่ปุ่นอีกด้วย โดยมีผลงานการ์ตูนสุดฮาเสียสติเรื่องเด่นของเขาคือ Tensai Bakabon

- ฮิโรโอะ เทราดะ พี่ใหญ่ใจดีในหมู่นักเขียนผู้ร่วมสร้างตำนานหอพักโทกิวะ เขาเป็นผู้แต่งเรื่อง Sportsman Kintarou ขึ้นชื่อว่าเป็นผู้ใจบุญของใครหลายคนในนี้ เพราะ เขามักจะช่วยเหลือด้านการเงินแก่รุ่นน้องเสมอ จนถูกขนานนาม "ธนาคารเทราดะ"

- โชทาโร่ อิชิโนโมริ นักเขียนการ์ตูนผู้แต่งเรื่อง Cyborg 009 และ Skull Man โดยเฉพาะเรื่องหลังนั้น ถือเป็นต้นฉบับของเหล่าฮีโร่ Masked Rider หรือ ไอ้มดแดงแดง นั่นเอง อีกทั้งเขายังเป็นผู้ให้กำเนิดฮีโร่สไตล์ญี่ปุ่นอีกหลายเรื่อง จนถูกบันทึกลงในกินเนสบุ๊คว่า เป็นนักเขียนการ์ตูนผู้มีจำนวนผลงานการ์ตูนมากที่สุดในโลก!!!!

- นาโอยะ โมริยาสุ ผู้แต่งเรื่อง "Rantan Matsuri", "Akai Jitensha" , "Suzuran no Hanasakeba" (Blooms of the Lily of the Valley), "Kamera no Onechan" ,"Mizuiro no Booto to Tomoni" และซีรี่ย์โนเนมอื่นๆ รวมกันมากกว่า 30 เรื่อง

- ชินอิจิ ซึซึกิ หรือ ฟูจัง ตามที่ชาวหอโทกิวะเรียก เขาอาจไม่ใช่นักเขียนการ์ตูนที่โด่งดังนัก แต่ปัจจุบันเขาเป็นถึงผู้บริหารพิพิธภัณฑ์อนิเมชั่นสึงินามิเลยทีเดียว

- จิโร่ ทสึโนดะ แม้ว่าเขาจะไม่ได้อาศัยอยู่ที่หอพักโทกิวะโดยตรง แต่เขามักจะขี่สกู้ตเตอร์ไปเยี่ยมเยียนชาวหอโทกิวะเกือบทุกวัน ราวกับเป็นชาวหอโทกิวะคนหนึ่งเลย เคยร่วมงานกับ อ.อิกกิ คาจิวาระ ผู้แต่งหน้ากากเสือ กับเรื่อง Karate Baka Ichidai , และ เป็นผู้แต่งเรื่อง Hana no Pyun Pyun Maru

- เอย์โกะ มิซึโนะ นักเขียนการ์ตูนหญิงเพียงคนเดียว ที่เคยร่วมสานตำนานหอพักแห่งนี้

- ทาเคมารุ นางาตะ หรือ มิโยมารุ นางาตะ หนึ่งในผู้ที่มาเยือนหอพักแห่งนี้บ่อย เขาเปิดตัวผลงานการ์ตูนครั้งแรกในนิตยสาร Manga Shonen ปี 1951 ต่อมามีซีรี่ย์เรื่องยาวอย่าง Bikkuri-kun กับ Otto! Yome-chan! ในช่วงยุค 60 ก่อนที่จะรับหน้าที่เป็นหัวหน้าผู้ช่วยของ Fujio Fujiko ในเวลาต่อมา

- คุนิโอะ นางาทานิ สมาชิกชาวหอที่ดูจะเพี้ยนๆกว่าใคร เขามีผลงานเรื่อง "Aho-shiki" ที่เป็นการล้อเลียนผลงานเรื่อง Neji-shiki ที่แต่งขึ้นโดย โยชิฮารุ ทสึเงะ ต่อจากนั้น เขาทำงานร่วมกับ อ.อาคัตซึกะ ณ สตูดิโอ Fujio Pro มีความสามารถในการล้อเลียนศิลปินท่านอื่นๆ

- โทคุโอะ โยโกตะ ผู้แต่ง Margaret-chan และ เขียนเรื่อง Hougen ร่วมกับ ฮารุมิ มิตซึอิ รวมถึงผลงานโนเนมอีกกว่า 20 เรื่องด้วยกัน

- ทาคาโอะ โยโกยาม่า หนึ่งในผู้ที่มาเยือนหอพักแห่งนี้บ่อยอีกคน และเป็นหนึ่งในผู้ช่วยของ อ.อาคัตซึกะ ณ สตูดิโอ Fujio Pro

- อากิระ มารุยาม่า บก.ของสนพ.โคดันฉะ และเป็นผู้ดูแลนิตยสาร Shojo Club เป็นคนที่เข้ามาขอร้องให้ อ.อาคัตซึกะ กับ อ.อิชิโนโมริ ให้มาช่วยงานของ อ.เท็ตซึยะ จิบะ (โจ สิงห์สังเวียน) ในคราวที่ อ.จิบะ ไม่สามารถเขียนการ์ตูนได้ เนื่องจากโดนมีดบาดที่มือ อีกทั้งยังเป็นคนแนะนำให้ มิซึโนะ มาทำงานที่หอพักแห่งนี้ด้วย นอกจากนี้ เขาเป็นเพียงคนเดียวที่ไม่ใช่นักเขียนการ์ตูน ที่ได้ถูกเชิญให้ไปงานเลี้ยงสู่เหย้าของชาวหอโทกิวะ เมื่อปี 1981 อีกด้วยเช่นกัน

 

เอโกะ มิซึโนะ นักเขียนการ์ตูนหญิงคนเดียว ผู้ร่วมสร้างตำนานหอพักโทกิวะ
(ภาพจาก http://threestepsoverjapan.blogspot.com/2010/10/tokiwa-sou-playback-part-3.html)

 

เสน่ห์มนขลัง Tokiwa-So โดยอดีดผู้ช่วย โอซามุ เท็ตซึกะ

ในเมื่อที่นี่เคยเป็นที่รวมตัวของเหล่านักเขียนการ์ตูนคนดังระดับตำนานของญี่ปุ่นทั้งที จะไม่มีเรื่องเล่าเกี่ยวกับเสน่ห์มนขลังของอพาร์ทเม้นต์โทกิวะเลย ก็กระไรอยู่ Tam Bing Man นักเขียนการ์ตูนผู้เคยเป็นผู้ช่วยของ อ.โอซามุ เท็ตซึกะ มาก่อน ได้เปิดเผยว่า ในช่วงเวลาที่เขาอาศัยที่บ้านพักดังกล่าว นั้น เขาได้เรียนรู้อะไรหลายๆอย่างจาก อ.เท็ตซึกะ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อ.เท็ตซึกะ นั้น ถือเป็นคนแรกที่ได้แนะนำการว่าจ้างผู้ช่วย ให้มามีส่วนร่วมในการผลิตผลงานการ์ตูนให้รวดเร็ว มีคุณภาพยิ่งขึ้น เสร็จทันเวลา ก่อนที่ผลงานจะได้รับการตีพิมพ์ลงนิตยสาร (สมัยก่อน นักเขียนการ์ตูนแต่ละคน มีจำนวนผลงานซีรี่ย์ตีพิมพ์ลงในนิตยสารหลายฉบับ ในช่วงเวลาเดียวกัน) ซึ่งรูปแบบการทำงานของอ.เท็ตซึกะนั้น ปัจจุบันนักเขียนการ์ตูนรุ่นหลังนิยมนำมาใช้กัน ซึ่งนอกจากจะเป็นผลดีต่อผลงานของตนเองแล้ว ยังเป็นการช่วยเทรนบรรดาศิลปินรุ่นใหม่ให้มีทักษะที่ดีขึ้น ดีพอที่จะแยกย้ายไปสร้างผลงานการ์ตูนของตนเองในอนาคต

Fujiko Fujio หนึ่งในนักเขียนการ์ตูนคนดัง ที่ถือกำเนิดจากหอพักแห่งนี้
คนซ้าย โมโตโอะ อาบิโกะ , คนขวา ฮิโรชิ ฟูจิโมโตะ

(ภาพจาก http://threestepsoverjapan.blogspot.com/2010/10/tokiwa-sou-playback-part-3.html)
การ์ตูน 4 ช่องยุคแรกๆของ Fujiko Fujio


(ภาพจาก http://threestepsoverjapan.blogspot.com/2010/10/tokiwa-sou-playback-part-3.html)


เมื่อ Fujiko Fujio (A) มารำลึกความหลังของ Tokiwa-So

นี่คือบทความ ที่ตัดมาจากบทสัมภาษณ์ของ อ.โมโตโอะ อาบิโกะ หรือ Fujiko Fujio (A) ที่ได้ อ.โอซามุ อากิโมโตะ (ผู้แต่ง Kochikame ลงในจัมป์) เป็นผู้สัมภาษณ์ โดยเป็นการรำลึกถึงความหลังสมัยที่ อ.อาบิโกะ ได้ใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับนักเขียนการ์ตูนท่านอื่นบนหอพักโทกิวะ โดย อ.อาบิโกะ กับ อ.ฟูจิโมโตะ ได้ย้ายมาพักอาศัยที่หอพักโทกิวะ เมื่อปี 1954 (เนื่องจากบทสัมภาษณ์ฉบับเต็มๆ ที่ลงบนเว็บ Comipress นั้นค่อนข้างยาวมาก ก็ขอสรุปเนื้อความคร่าวๆนะครับ)

Fujiko Fujio (A) เปิดเผยว่า หอพักโทกิวะนี้ เป็นสถานที่ที่มีอิทธิพลอย่างมากสำหรับเขา พวกเขาอาศัยอยู่กินร่วมกับนักเขียนท่านอื่นๆ ณ สถานที่ดังกล่าว ซึ่งในช่วงเวลานั้น การจะเป็นนักเขียนการ์ตูน ค่อนข้างเป็นงานเพ้อฝัน แต่โชคยังดีที่พวกเขาได้อ.เท็ตซึกะ เป็นคนจุดประกายให้กับพวกเขา ทั้งๆที่ไม่มีใครรู้ว่าอนาคตของวงการการ์ตูนญี่ปุ่นนี้จะเป็นอย่างไร และเหตุที่เขามีความกล้าท้าทายในสายอาชีพนี้ ก็เพราะ ได้เพื่อนๆที่มีความมานะอุตสาหะ บากบั่น อยู่รอบๆ ซึ่งพวกเขาเหล่านั้นคือคู่แข่งของเขาทั้งหมด พวกเขาจึงต้องแข่งขันกันเอง เพื่อที่จะได้ผลงานลงนิตยสารจำนวนหนึ่งที่ค่องข้างจะจำกัดในยุคนั้น เขากล่าวอีกว่า ช่วงตี2-3 ขณะที่เขากำลังเข้าห้องน้ำอยู่นั้น เขาได้เห็น อ.อาคัตซึกะ กับ อ.เท็ตซึกะ ยังคงเปิดไฟปั่นงานของตนเองอย่างขะมักเขม่น ทำให้เขารู้สึกอิจฉาทั้งคู่มาก พร้อมกับรู้สึกปลื้มอีกเช่นกัน ที่ผลงานของพวกเขาได้ตีพิมพ์ลงในนิตยสารเดียวกันอีก นั่นเป็นสิ่งที่ทำให้เขามีความกล้าขึ้นมา

ถึงแม้ว่า Fujiko Fujio (A) จะมองว่านักเขียนการ์ตูนที่อยู่ด้วยกันนั้น เป็นคู่แข่งคนสำคัญ แต่ถึงกระนั้น เขาบอกว่า บรรยากาศในตอนนั้น ทุกๆคน เหมือนกับเป็นพี่น้อง ครอบครัว ซึ่งเขานั้นได้รับความช่วยเหลืออะไรหลายต่อหลายอย่างจาก เทระซัง (อ.ฮิโรโอะ เทราดะ) ที่เป็นคนสำคัญราวกับพี่ชายคนโต ซึ่งเทระซังนั้น เป็นคนค่อนข้างเข้มงวดมาก เขาชอบการ์ตูนแนวเด็กๆ แต่ไม่ชอบการ์ตูนที่มีเนื้อหารุนแรง และมักจะไม่พอใจที่ได้เห็นการ์ตูนเรื่องที่เขาไม่โปรด ได้มาลงตีพิมพ์เล่มเดียวกับผลงานของเขา จนถึงขั้นออกมาเรียกร้องต่อหัวหน้าบก. ให้หยุดตีพิมพ์เรื่องที่เขาไม่ชอบ ก่อนที่จะหยุดเขียนการ์ตูนให้กับนิตยสารดังกล่าวซะเลย อย่างไรก็ตาม แม้เทระซังจะเป็นคนอาร์ตๆหน่อย แต่เขามักให้ความช่วยเหลือด้านการเงินแก่น้องๆ เสมอ แม้ว่าเทราดะจะไม่ใช่คนร่ำรวยนักก็ตาม จนถูกเรียกอีกฉายานึงว่า "ธนาคารเทราดะ" ซึ่งเทราดะ เคยช่วยเหลือเรื่องเงินค่าเช่าห้องแก่คู่หู Fujiko Fujio ด้วย แม้ว่าทั้งคู่บอกปฏิเสธ แต่พอถึงเดธไลน์ที่ต้องจ่ายค่าเช่าห้อง พวกเขาอดไม่ได้ที่จะต้องขอความช่วยเหลือเรื่องนี้จากเทราดะ จนได้ และเขาเสริมอีกว่า หากไม่ได้รับความช่วยเหลือจากเทราดะ เขากับฟูจิโมโตะ คงอยู่ไม่ได้แน่

Fujiko Fujio (A) เสริมอีกว่า ก่อนที่ทั้งคู่จะมาอาศัยที่นี่นั้น เขาได้แชร์ห้องพักขนาดเล็กและแคบ ที่ชั้น 2 ของร้านขายนาฬิกาแห่งหนึ่งในโตเกียว ซึ่งห้องนั้นมีขนาดเล็กมาก เล่นเอาทำงาน หรือ นอนพักผ่อนกันไม่สะดวก ทำเอา อ.ฟูจิโมโตะ ที่เป็นคนตัวสูงอยู่แล้วนั้น เท้าของเขาแทบติดกำแพงห้องเลยล่ะ และด้วยความไม่สะดวกที่เกิดขึ้น ทำให้อ.เท็ตซึกะ ตัดสินเชิญชวนให้ทั้งคู่ไปอาศัยที่หอพักโทกิวะแทน โดยเสนอให้ทั้งคู่ไปอาศัยที่ห้องเก่าของเขา พร้อมเป็นฝ่ายรับผิดชอบด้วยการออกเงินมัดจำค่าห้อง 30,000 เยน ให้กับพวกเขาทั้งคู่ก่อน ก่อนที่ทั้งคู่จะชดใช้เงินคืนในเวลาต่อมา และหลังจากย้ายไปอาศัยที่หอพักโทกิวะนั้น เขาเผยว่า ในช่วงเวลาว่างๆ เขามักจะเชิญนักเขียนรุ่นน้องอย่าง อ.อาคัตซึกะ กับ อ.อิชิโนโมริ มาจับกลุ่มก้อนกัน จนกลายเป็นกลุ่ม "New Manga Gang" คอยทำงานต่างๆร่วมกัน ทั้งงานการ์ตูน โดจินชิ ฯลฯ หรือไม่ก็ บางทีก็จับกลุ่มไปอยู่ที่ห้องของเทราดะ เพื่อคุยเรื่องสัพเพเหระ นอกจากเรื่องงานการ์ตูน แถมในตอนนั้นกลุ่มคนทำงานร่วมกัน เริ่มมากขึ้นทุกที

 

การเป็นผู้ช่วยให้กับ อ.เท็ตซึกะ คือ ช่วงเวลาที่น่าจดจำที่สุด ของ Fujiko Fujio (A)

จากนั้น Fujiko Fujio (A) ได้เผยถึงช่วงเวลาที่น่าจดจำที่สุด ณ หอพักโทกิวะ นั่นคือ การเป็นผู้ช่วยให้กับ อ.เท็ตซึกะ ซึ่งในตอนที่พวกเขามาถึงห้องของอ.เท็ตซึกะ เขาก็ได้ยินเสียง ผู้ดูแลจากนิตยสาร Boken-oh คนหนึ่ง กำลังโทรศัพท์คุยกับทางสนพ.อยู่ จากนั้นไม่ทันไร ก็มีคนจากนิตยสาร Shonen เรียก อ.เท็ตซึกะ มาคุยงานข้างนอกด้วย จากนั้น อ.เท็ตซึกะ ได้พบเจอกับพวกเขา และพาพวกเขาออกไปข้างนอกด้วยกัน ซึ่งตอนนั้นทั้งคู่แทบจะเหวอกันไปเลย ไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้น แต่ก็ได้นั่งแท็กซี่ ไปยังที่โรงแรมแห่งหนึ่งในเขตคันดะ กรุงโตเกียว ด้วยกันกับ อ.เท็ตซึกะ ทว่าคนจาก Boken-oh ที่ตามมาทีหลัง ได้พูดคุยกับพนักงานโรงแรมว่า "คุณเท็ตซึกะต้องอยู่ที่นี่แน่ๆ" จากนั้นก็ตะโกนว่า "อ.เท็ตซึกะคร้าบ ผมรู้นะว่าคุณอยู่ที่นี่นะ" จากนั้นได้ขว้างก้อนหินไปที่หน้าต่างของห้องที่ทั้งคู่อาศัยอยู่

ซึ่ง Fujiko Fujio (A) เสริมว่า ในระหว่างอยู่บนแท๊กซี่ (ไปพร้อมๆกับอาการเมารถของเขา) ได้เห็น อ.เท็ตซึกะ ทำงานสตอรี่บอร์ดอยู่ที่นั่น ทั้งๆที่รถกำลังวิ่งอยู่ การทำงานเป็นไปอย่างยากลำบากมาก ลายเส้นออกมาบิดเบี้ยว ไม่สามารถลงหมึกได้ดั่งใจนึก แต่อ.เท็ตซึกะ ยังคงดึงดันทำงานของเขาต่อไป ซึ่งทั้งอ.เท็ตซึกะและพวกเขา ต้องใช้โรงแรมเป็นสถานที่ทำงานร่วมกันทั้งอาทิตย์เลย ซึ่งถือประสบการณ์อันล้ำค่าสำหรับเขามาก โดยในตอนนั้นเขาได้รับมอบหมายให้วาดพายุหิมะบนหน้าสุดท้ายของ The Empire of Jungle ซึ่งเป็นฉากที่นักสำรวจตายเพราะความหนาวเย็นบน Moon Mountain พองานเสร็จ เขาได้นำหน้าดังกล่าวไปอวดเพื่อนๆของเขาในทันที เขารู้สึกภูมิใจกับงานนี้มาก

อย่างไรก็ตาม อ.อากิโมโตะ ผู้สัมภาษณ์ ได้บอกว่า นักเขียนการ์ตูนสมัยก่อน มีความอดทนสูงมาก พวกเขาสามารถเขียนซีรี่ย์ได้หลากหลายเรื่องในช่วงเวลาเดียวกัน ซึ่ง Fujiko Fujio (A) ตอบว่า พวกเขารู้สึกสนุกมากที่ได้ทำงานให้กับนิตยสารหลายเจ้า ไม่ว่าทางสนพ.จะรีเควสต์ของานยากๆอยู่บ้างก็ตาม ซึ่งตัวเขานั้นได้แรงบันดาลใจมาจากเพื่อนนักเขียนที่อยู่ที่นั่น เขากล่าวทิ้งท้ายว่า เขาต้องแสดงศักยภาพให้คนอื่นๆได้เห็นด้วย เขาต้องท้าทายตนเองเพื่อรองรับกับสิ่งใหม่ๆยิ่งกว่า.....

Tokiwa-so no seishun หนังญี่ปุ่นที่นำเสนอเรื่องราวของหอพักโทกิวะ ซึ่งใครอยากรู้เรื่องราวเพิ่มเติม ลองหามาดูนะ

 

 

เครดิตที่มาบทความ และ รูปภาพ

http://en.wikipedia.org/wiki/Tokiwa-s%C5%8D
http://astroboyworld.blogspot.com/2009/03/tokiwa-so-monument.html
http://comipress.com/article/2008/01/19/3158
http://pears.lib.ohio-state.edu/Markus/Review/Films96/Tokiwa.html
http://tsoj.manga.org/anime/pb_mn.html
http://threestepsoverjapan.blogspot.com/2010/10/tokiwa-sou-playback-part-1.html
http://threestepsoverjapan.blogspot.com/2010/10/tokiwa-sou-playback-part-2.html
http://threestepsoverjapan.blogspot.com/2010/10/tokiwa-sou-playback-part-3.html


kartoon-discovery.com
Sep 2012


 
free hit counter javascript