ทิศทางวงการนักพากย์การ์ตูนไทย.......ใครว่าดูอนิเมพากย์ไทยไม่สนุก ?!!

   Update 15/01/2552
ภาพประกอบบทความ จาก nekomagic.com

 


  การ์ตูน อนิเม นับว่าเป็นสิ่งที่ช่วยจรรโลงใจในยามที่เราคลายเครียด และ เป็นสื่อบันเทิงสำหรับคนทุกเพศทุกวัย (ไม่ได้เป็นสื่อบันเทิงสำหรับเด็กๆ เหมือนผู้ใหญ่บางประเทศคิด) อนิเมที่ฉายทางทีวีนั้น นอกจากจะสนุกที่เนื้อเรื่อง ตัวละครคาแร็คเตอร์ถูกใจแล้ว ยังมีสิ่งหนึ่งที่ขาดไม่ได้เลยในการ์ตูนอนิเม หากขาดไปเราไม่สามารถดูการ์ตูนอนิเมได้อย่างมีอรรถรส นั่นก็คือ เสียงพากย์ตัวละครนั่นเอง

  ในสำหรับเมืองไทย ที่ปัจจุบันยังคงนำเข้าอนิเมที่มาจากญี่ปุ่น หรือ อเมริกา มาฉายอยู่เสมอ ซึ่งเสียงพากย์ภาษาไทยนั้นจำเป็นอย่างมาก เพื่อที่จะให้คนดูอย่างเราๆท่านๆดูอนิเมเหล่านี้ได้รู้เรื่องมากขึ้น รู้ว่าตัวละครเหล่านี้กำลังพูดอะไร รู้ว่า อนิเมเรื่องนั้นจะดำเนินเรื่องต่อไปยังไง รวมไปถึง เรายังได้อารมณ์ร่วมไปกับตัวละครในเรื่องมากขึ้น และนักพากย์นั้นก็ถือว่าเป็นผู้ปิดทองหลังพระ ในแง่การสร้างอารมณ์ในอนิเมอย่างแท้จริง

  เชื่อได้เลยว่าในสมัยเด็กๆนั้น ใครต่อใครหลายคนที่ได้สัมผัสกับอนิเมที่ฉายในบ้านเราหลายต่อหลายเรื่อง ต่างก็ต้องเคยประทับใจไปกับเสียงพากย์ไทยของตัวละคร อย่าง โดราเอม่อน,โนบิตะ,อาราเล่,โกคู,หน้ากากเสือ,เซเลอร์มูน ฯลฯ แต่ละคนต่างก็มีเสียงที่เป็นเอกลักษณ์ ได้อารมณ์ราวกับว่าพวกเขานั้นมีชีวิตจริงๆ ประมาณว่า ต้องเป็นเสียงคนนี้เท่านั้นถึงจะเป็นตัวละครตัวนี้ ซึ่งก็ต้องขอบคุณกับเหล่านักพากย์ที่เราคุ้นเคยเสียงจนชินชาตั้งแต่เด็กๆยันปัจจุบัน ที่ได้ใช้ความสามารถของเขาในการ สร้างความสนุก ประทับใจ เพิ่มอรรถรส แก่คนดูตั้งแต่อดีตยันปัจจุบันเช่นกัน

  แต่ทว่า ในปัจจุบัน เทคโนโลยีสมัยใหม่ก็มีการพัฒนามากขึ้น นับตั้งแต่มี DVD หลากภาษา ฟังได้ทั้งเสียงออริจินั่ล และ ภาษาอื่นๆ,โทรทัศน์ระบบสองภาษา, หรือจะเป็นสื่อไซเบอร์ อย่าง อินเตอร์เน็ต ที่สามารถดูคลิปวิดีโอ หรือ ดาวโหลตบิต การ์ตูนอนิเมสดใหม่ของญี่ปุ่นอย่างรวดเร็วนั้น ก็ทำให้คออนิเมได้สัมผัสกับการ์ตูนหลากเรื่องจากญี่ปุ่น แถมยังได้สัมผัสกับเสียงพากย์จากต้นตำรับกันมากขึ้น ซึ่งก็ทำให้หลายคนเริ่มที่จะประทับใจกับเสียงพากย์ของเหล่า"เซย์ยู"(นักพากย์ญี่ปุ่น)มากขึ้น และคุณภาพของนักพากย์ญี่ปุ่นนั้นก็จัดว่าสูงซะด้วย เมื่อเทียบกับนักพากย์ไทยแล้ว ญี่ปุ่นนั้นดีกว่าจนเทียบกันไม่ติด ก็เลยมีคออนิเมบางคนพยายามนำอนิเมพากย์ไทยไปเปรียบเทียบกับต้นตำรับมากขึ้น จนถึงขนาดบางคนเริ่มที่จะปฏิเสธอนิเมเสียงพากย์ไทยไปซะแล้ว แถมดีไม่ดีบางคนก็ออกอาการตีตนก่อนไข้ พออนิเมเรื่องไหนเข้าไทยและพากย์ไทยเมื่อไหร่ละก็ จะบ่นว่าพากย์ไม่ดี พากย์แย่ ทั้งๆที่ตอนดูก็เอาแต่ฟังเสียงต้นตำรับ ไม่เคยคิดจะสนใจฟังเสียงพากย์ไทยเลยสักนิด

โดราเอม่อน หนึ่งในการ์ตูนที่หลายคนมักคุ้นเคยกับเสียงพากย์ที่สุด
จนไม่อาจหาใครมาพากย์แทนแล้วได้อารมณ์เท่าทีมพากย์ชุดปัจจุบัน

  เหตุที่คออนิเมบ้านเราเริ่มนิยมนักพากย์ญี่ปุ่นมากขึ้น ก็มาจากการที่ ความสามารถในการพากย์ของเขานั้น ที่พากย์ได้อินกับบท เข้าคาแรคเตอร์ตัวละคร และ ได้อารมณ์ร่วมกับตัวละครมากกว่า แถมในการ์ตูนเรื่องหนึ่ง เขาก็ใช้นักพากย์หลายคนจึงฟังแล้วรู้สึกถึงความแตกต่างของตัวละครแต่ละตัว ทำให้รู้สึกถึงความเป็นมิติมากกว่า เมื่อเทียบกับนักพากย์การ์ตูนไทยแล้ว ส่วนใหญ่ก็จะเป็นเสียงที่เราคุ้นเคยตั้งแต่ยังเด็กเช่นเดิม ถึงแม้ว่าตอนนี้จะมีนักพากย์การ์ตูนหน้าใหม่ในบ้านเราสอดแทรกขึ้นมาบ้าง แต่ก็ยังจัดว่าน้อยอยู่ดี ด้วยการที่บ้านเรามีทรัพยากรนักพากย์อยู่แค่นี้ล่ะ ที่ทำให้เวลาเราดูการ์ตูนอนิเมเรื่องต่างๆจากทีวี หรือ VCD DVD ลิขสิทธิ์ เราก็จะได้ยินแต่เสียงที่เราคุ้นเคยพากย์ตัวละคร 4-5ตัวในเรื่องเดียวกัน หรือ ข้ามไปเปิดดูอีกช่อง ก็เจอเสียงคนนี้อีก พอจะเปิดVCD มาดูก็ยังหนีไม่พ้นเสียงคนนี้อีก ทำเอาเบื่อกันไปข้างหนึ่งเลย (หากใครยังจำกันได้ สมัยที่วิดีโอสแควร์ยังฮ็อตฮิตอยู่ คุณก็จะได้ยินเสียงนักพากย์ที่คุ้นเคย โผล่มาแทบจะทุกเรื่องของค่ายนี้ โดยยึด pattern ชาย 2 หญิง 2 เหอๆ) แต่บางคนก็บอกว่า นักพากย์ไทยเก่งที่สุดในโลก เพราะ นักพากย์คนเดียวสามารถพากย์ตัวละครได้หลายตัวในเรื่องเดียวกันได้ ซึ่งสาเหตุที่บ้านเรามีนักพากย์การ์ตูนค่อนข้างน้อย หลักๆก็คงจะหนีไม่พ้น การที่วงการอนิเมบ้านเราไม่ได้รับการสนับสนุนมากเท่าที่ควร เมื่ออนิเมชั่นบ้านเรามีจำนวนน้อย นักพากย์บ้านเราก็เลยไม่ค่อยจะมีงานตรงส่วนนี้มากนัก รายได้จากอาชีพนี้จึงได้น้อยตามไปด้วย ถึงขนาดบางคนออกเดินสายไปพากย์ให้ค่ายต่างๆแล้วก็ตาม เมื่อเทียบกับญี่ปุ่นที่วงการอนิเมนั้นเป็นอุตสาหกรรมทำเงินชั้นดี จึงสามารถจ้างนักพากย์เข้ามาทำงานได้เยอะ รายได้ของนักพากย์บ้านเขาก็จัดว่าดีมาก แถมวงการนักพากย์ของญี่ปุ่นนั้น ยังเป็นบันไดก้าวไปสู่วงการมายา เป็นดารานักร้องได้เช่นเดียวกัน

 

City Hunter,Slam Dunk หากใครเคยดูวีดีโอการ์ตูนพากย์ไทยของบางเจ้านั้น จะพบว่า ตัวละครในเรื่องออกจะเยอะ แต่ดันใช้คนพากย์ไม่กี่คนเอง

 

  ส่วนหนึ่งที่เรามักจะได้ยินแต่เสียงนักพากย์หน้าเดิมๆไม่ว่าจะเป็นอนิเม ทีวี หรือ VCD DVD ลิขสิทธิ์ อีกอย่างหนึ่ง ก็มาจากการที่ค่ายอนิเมลิขสิทธิ์ต่างๆบ้านเราต้องการจะทำเงินจากจุดนี้มากขึ้น โดยเน้นจ้างนักพากย์ประสบการณ์สูงที่เรามักจะคุ้นเคย แถมนักพากย์กลุ่มนี้ คนดูยอมรับมากกว่า เลยเป็นการดึงดูดให้คออนิเมมาจับจ่ายซื้ออนิเมเหล่านี้เก็บไว้มากขึ้น แต่ก็มีข้อเสียตรงที่ หากพยายามจ้างนักพากย์ประสบการณ์สูงให้มาพากย์อย่างเดียว ก็มีผลทำให้นักพากย์หน้าใหม่ ฝีมือดีหลายต่อหลายคน พลอยไม่ได้แจ้งเกิดไปด้วย วงการนักพากย์การ์ตูนบ้านเราที่แคบอยู่แล้วมันก็จะแคบเข้าไปใหญ่ ตรงจุดนี้บรรดานักพากย์สายเลือดใหม่จะต้องใช้พยายามมากขึ้นที่จะพัฒนาการพากย์ของตนให้เหล่าทีมพากย์รุ่นเก๋าและคนดูยอมรับให้จงได้ ซึ่งก็มีบางส่วนที่สามารถฝ่าฟันให้คนดูยอมรับได้ แต่ก็มีบางส่วนที่ทักษะการพากย์ยังไม่ดี แต่ก็ได้ขึ้นชั้นมาพากย์ร่วมกับนักพากย์รุ่นเก๋าซะแล้ว แถมดีไม่ดีได้รับการผลักดันสูง ได้พากย์เป็นตัวเอก ทั้งๆที่ความสามารถไม่ถึง ก็เลยทำให้คนดูอนิเมบ้านเรายังไม่พอใจเสียงพากย์ไทยอยู่ดี แถมเป็นการฆ่าตัวตายทางอ้อมของทีมพากย์ทีมนั้นไปซะอีก แถม ระบบการพากย์ของเรานั้น ยังยึดติดกับทีมพากย์เกินไป ก็เลยทำให้ทีมพากย์การ์ตูนทีมหนึ่งจึงไม่เยอะ ทั้งๆที่ควรจะจ้างคนพากย์หลายต่อหลายคนจากข้างนอก ค่ายอื่นๆ มาช่วยบ้าง ซึ่งวิธีนี้ก็ทำได้ แต่ก็ติดตรงที่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการจ้างนักพากย์กันมากขึ้น โดยอาจมีผลต่อราคาแผ่น VCD DVD อนิเมลิขสิทธิ์ที่เพิ่มสูงขึ้นอีกด้วย

  สาเหตุอื่นๆที่ คออนิเมสมัยนี้ไม่ประทับใจเสียงพากย์ไทยในอนิเม บางทีก็มาจากตัวนักพากย์เอง ที่กลายเป็นผู้ร้ายทำลายบรรยากาศหนังซะยับ คือ พากย์นอกบทเยอะเกินไป แต่ไม่ใช่หมายความว่า การพากย์นอกบทนั้นมันไม่ดี เพราะ ถือเป็นการช่วยเสริมบรรยากาศของเรื่องไปในตัวด้วย ดังจะเห็นได้จาก ฉากตลาดสดในหนังจีน ที่จะมีคนคอยพากย์นอกบท เพื่อแสดงให้เห็นถึงบรรยากาศจอแจเมื่อยามเราไปจ่ายตลาด หรือ การจะพากย์ให้อารมณ์ซอฟต์ขึ้น เพื่อไม่ให้ตัวหนังดูรุนแรงเกินและให้กลุ่มผู้ชมในวัยเด็กดู(อันนี้ก็ต้องเข้าใจเขาด้วย ก็ในเมื่อบ้านเรายังขาดการจัดเรตติ้งที่ได้มาตรฐาน) แต่ การพากย์นอกบทเพื่อเสริมบรรยากาศในเรื่องนั้น ควรจะนึกถึงเหตุการณ์ของหนังในขณะนั้นด้วย ไม่ใช่ สักเอาแต่ปล่อยมุขฝืดๆยันเต ไม่ได้ดูอารมณ์ของเรื่องเลย โดยเฉพาะกับ ฉากโรแมนติค ฉากสะเทือนใจ พี่แกก็เอาแต่ปล่อยมุขน่ารำคาญต่อไป จนกลายเป็นการทำลายบรรยากาศหนังไปเลย หรือจะเป็น การที่นักพากย์บางคนยังคงยึดเอา "Monotone" เป็นแม่แบบ คือ ไม่ว่าตัวละครจะเป็นแบบไหน พี่ก็พากย์เสียงมันอยู่ระดับเดียว ขาดอารมณ์ ไม่เป็นธรรมชาติ จนสร้างความรำคาญแก่คนดูเลยก็มี

  นอกจากสาเหตุจะมาจากตัวนักพากย์แล้ว อีกส่วนหนึ่งที่คออนิเมมักจะมองข้ามไปก็คือ คนแปลบท ซึ่งคนแปลบทก็มีผลอย่างมากอีกเช่นกัน หากทักษะของผู้แปลบทพากย์นั้นขาดๆเกินๆ ความรู้รอบตัวน้อย ก็มีผลทำให้การพากย์นั้นไม่ดีไปด้วย ยิ่งระบบการพากย์แค่รอบเดียว ไม่มีการซ่อม ของนักพากย์ไทยส่วนใหญ่ด้วยเนี่ย ยิ่งไปกันใหญ่เลย ซึ่งผมก็ขอยกตัวอย่าง รายการญี่ปุ่นรายการหนึ่ง ที่ฉายทาง True Visions เมื่อ 4 ปีก่อน ตอนนั้นเขากำลังพูดถึงของสะสม ซึ่งมี "ไอ้มดแดง" คาเมน ไรเดอร์ นั้น ก็ไม่ทราบเหมือนกันว่าผู้แปล คงจะไม่รู้จัก ไม่เคยดู "คาเมน ไรเดอร์" หรือเปล่า ก็เลยเขียนแปลเป็น "ยอดมนุษย์หน้ากาก" ให้คนพากย์ได้พากย์ไปแบบนั้นไปซะเฉย....

  อีกข้อหนึ่งที่คออนิเมบ้านเราไม่ประทับใจนักพากย์ไทยที่ยังพากย์ไม่ได้อารมณ์เท่านักพากย์ญี่ปุ่น แถมคาแรคเตอร์ตัวละครกับเสียงพากย์ไทยมันช่างไม่เข้ากันเลย ผิดกับนักพากย์ญี่ปุ่นที่ส่วนใหญ่เสียงพากย์นั้นเข้ากับตัวละคร เลยได้อารมณ์ร่วมมากกว่านั้น ก็มาจาก "การทำงาน"ที่แตกต่างกันระหว่างของเขากับของเรา คือ ระบบการทำงานนักพากย์ของเรานั้นคือ นักพากย์ของเราจะทำการพากย์กันรอบเดียวจบ ไม่มีการแก้ไขเลย โดยนักพากย์นั้นจะได้รับบทพากย์เอาก็ตอนใกล้จะพากย์นี่ล่ะ เลยไม่ค่อยมีเวลาจะมาศึกษาบทเท่าไหร่ และที่แย่ไปกว่านั้น บางทีมพากย์นั้น ก็ไม่มี ผู้ที่ทำหน้าที่ควบคุมการพากย์ เลย โดยบทบาทของผู้ควบคุมการพากย์นั้น จะเป็นคอยกำหนดทิศทางการพากย์ในอนิเมเรื่องนั้นๆ ให้ได้อารมณ์ใกล้เคียงกับต้นฉบับที่สุด และเป็นคนคอยแจกบทให้นักพากย์ในทีมว่า ควรจะพากย์ตัวละครตัวไหน โดยส่วนใหญ่ ทีมที่ไม่มีผู้ควบคุมการพากย์ ก็จะเป็นหัวหน้าทีมพากย์นี่ล่ะ ทำหน้าที่นี้แทน และ ปัญหามันก็อยู่ตรงนี้ล่ะ ในเมื่อระบบการพากย์เป็นแบบรอบเดียว หัวหน้าทีมพากย์ก็เลยไม่ค่อยจะมีเวลามาศึกษาในตัวอนิเม หรือ หนังที่จะพากย์มากนัก เทียบกับ คนที่ทำหน้าที่ควบคุมการพากย์อย่างเดียวที่มีเวลาพอที่จะศึกษาอนิเมเรื่องที่จะพากย์มากกว่า ผลก็คือ การแจกบทบาทให้กับคาแร็คเตอร์ที่เหมาะสมกับนักพากย์แต่ละคนจึงค่อนข้างสะเปะสะปะ ไม่เข้ากันเลย ก็เลยทำให้หนังที่ออกมาจึงเป็นอย่างที่เห็น พูดง่ายๆก็คือ หากเรื่องไหนพากย์ไม่ดี อย่าโทษแต่นักพากย์อย่างเดียว ควรโทษคนที่ทำหน้าที่ควบคุมด้วย ส่วนสาเหตุที่ทำไมนักพากย์บ้านเราจึงพากย์แค่รอบเดียว ไม่มีการแก้ไข ไม่มีการแจกบทพากย์ไปซ้อมก่อนทำการพากย์จริงนั้น ก็เพราะ "เวลา" ที่ค่อนข้างจะมีจำกัด อันเนื่องมาจาก บุคลากรนักพากย์บ้านเรามีน้อยดังที่ได้กล่าวมาแล้ว แถมบางคนติดคิวงานพากย์ตามค่ายอื่นๆ นั่นเอง เวลาที่เหลืออยู่น้อยนิด ก็เลยเป็นช่วงที่นักพากย์ในทีมนั้นสะดวกพร้อมกันที่จะทำการพากย์จริง

   แต่ไม่ใช่ว่าการทำงานพากย์อนิเมของไทยจะทำแบบนี้อย่างเดียว บางทีมพากย์ในบ้านเรา โดยเฉพาะทีมที่รับหน้าที่พากย์หนังอนิเมชั่นฝรั่ง อย่าง Disney Dreamwork นั้น ก็จะมีการทำงานในรูปแบบสากล เช่นเดียวกับการพากย์การ์ตูนอนิเมญี่ปุ่นของนักพากย์ญี่ปุ่น นั่นก็คือ ก่อนจะทำการพากย์ จะมี การแคสติ้ง ก่อน คือ มีการคัดเลือกนักพากย์ก่อนว่า เสียงแบบนี้เหมาะสมกับ คาแร็คเตอร์ตัวละครนี้หรือไม่ โดยจะมีการเรียกตัวนักพากย์ให้ไปเทสต์เสียงก่อน หากเป็นที่พอใจของทีมงานอนิเมแล้ว ก็จะได้รับเลือกให้ไปพากย์ในบทนั้นๆ ยกตัวอย่างง่ายๆ หนังอนิเมชั่นฝรั่ง ก็จะมีการแคสติ้งดาราดังไปพากย์กัน หรือ หากอนิเมชั่นเรื่องนี้จะเข้าฉายที่บ้านเรา ก็ต้องมีการเรียกดาราในบ้านเราไปเทสต์เสียงพากย์ว่าเข้ากับคาแร็คเตอร์ตัวละครนั้นๆหรือไม่ ซึ่งทีมงานฝรั่งค่อนข้างเน้นตรงจุดนี้มาก หลังจากนั้นคัดเลือกเลือกนักพากย์ได้แล้ว ก็จะแจกสคริปต์ที่จะใช้ในการพากย์ไปให้นักพากย์ฝึกซ้อมท่องบทก่อนที่จะทำการพากย์จริง(คล้ายๆกับซ้อมท่องบทละครของนักแสดง) แต่สำหรับบางทีมพากย์นั้น(โดยเฉพาะฝรั่ง กับ ญี่ปุ่น) เวลาพากย์ก็จะยืนพากย์แทนการนั่งพากย์ เพราะสามารถออกอาการ บิ๊วอารมณ์ ตอนพากย์ไปด้วยในตัวได้มากกว่า
REC การ์ตูนญี่ปุ่นที่ว่าด้วยเรื่องราวของ
วงการนักพากย์ญี่ปุ่น

  นี่คือเหตุผลทั้งหมดที่ทำไมอนิเมพากย์ไทยสมัยนี้ไม่ถูกใจคออนิเมบ้านเรา แต่ไม่ใช่ว่าอนิเมพากย์ไทยมันจะห่วยไปซะทุกเรื่อง ที่พากย์ดีๆก็มีเยอะ แต่มันก็มีข้อเสียอยู่บ้างตามเหตุผลที่ได้กล่าวยกมา รวมไปถึงทัศนคติความคิดที่แตกต่างกันของคนแต่ละคน บ้างก็ชอบพากย์ไทยเพราะโตมากับเสียงพากย์ไทย บ้างก็เอาอคติครอบงำเข้าว่า พาลเกลียดอนิเมพากย์ไทยทุกเรื่อง ชูเสียงต้นตำรับดีที่สุด (ทั้งที่จริง อนิเมต้นฉบับมันก็ต้องมีคนที่พากย์ไม่เข้ากับตัวละครบ้างก็เถอะ) หรือไม่ก็รับได้ทั้งสองเสียง ซึ่งการที่จะทำให้คออนิเมบ้านเรายอมรับเสียงพากย์มากขึ้นนั้น ก็คือ ต้องมีการสนับสนุนผลักดัน อนิเมชั่นในบ้านเราให้มากขึ้น เมื่ออนิเมมีการผลิตกันมากขึ้น ก็มีผลทำให้อาชีพ อนิเมเตอร์ รวมถึง นักพากย์ นั้นมีการจ้างมากขึ้นไปด้วย ถือเป็นการยกระดับความนิยมในอาชีพสายนี้ไปในตัว นอกจากนี้ยังต้องมีการจัดการอบรม สอนการเป็นนักพากย์ให้มากขึ้นกว่าเดิม รวมไปถึง ตัวคนดูอนิเมเองก็ต้องสนับสนุนอนิเมพากย์ไทย คอยให้กำลังใจการพากย์ของเขาด้วย อย่าพยายามไปยึดติด เปรียบเทียบ กับเสียงพากย์ออริจินั่ล เป็นสำคัญ

 

  ใครว่าดูอนิเมพากย์ไทยไม่สนุก ?!!

  ต่อไปนี้ก็จะเป็นการวิจารณ์การพากย์ไทยของอนิเมแต่ละเรื่อง แบ่งเป็นอนิเมพากย์ดีและแย่ โดยจะเขียนตามความคิดเห็นของผู้เขียนเอง ซึ่งจะรวมถึงเรื่องที่ฉายจบไปนานแล้ว แน่นอนว่าความรู้สึกนิยมชมชอบของแต่ละคน ย่อมแตกต่างกัน หากไม่ตรงใจคุณ ก็อย่าว่ากันนะครับ

  Top List อนิเมพากย์ไทยสุดเจ๋ง

  โดราเอม่อน(ช่อง 9/Rose)
  ก็จัดว่าเป็นเรื่องที่Top List ในกลุ่มอนิเมพากย์ไทยที่ใครต่อหลายคนประทับใจ ไม่ว่าจะนานไปซักแค่ไหน เสียงตัวละคร อย่าง โดราเอม่อน โนบิตะ ชิซูกะ ซูเนโอะ ไจแอนท์ ก็ยังสร้างความประทับใจมิรู้ลืม จนไม่สามารถจะหาใครมาแทนได้ ซึ่งคาแร็คเตอร์แต่ละคนก็พากย์ได้อย่างลงตัว และเป็นธรรมชาติ ราวกับว่า เราได้สนุกไปกับพวกเขาทั้ง 5 กันอย่างไม่รู้ตัว ถ้าจะมีจุดด้อยจริงๆ ก็จะมีแต่เสียงคุณแม่ของโนบิตะ เวอร์ชั่นปัจจุบันเนี่ยแหละ ที่เสียงไม่ค่อยเข้มงวด ฮาร์ดคอร์ ไม่ได้อารมณ์เท่าไหร่ เมื่อเทียบกับ เวอร์ชั่นที่เคยฉายเมื่อ 10 ปีที่แล้ว

  แชมเปี้ยน เจปัง (TITV,DEX)
  เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่หาคนพากย์ได้ค่อนข้างเหมาะกับคาแรคเตอร์ สิ่งหนึ่งที่ทำให้การ์ตูนเรื่องนี้ดูสนุกสนาน ก็ต้องยกเครดิตให้กับเสียงพากย์ของ คุโรยานางิ กับ เปียร์โร่ ที่เก๊กหลุด รั่วได้ใจมาก ในยามที่ทำรีแอ็คชั่น ส่วนคนอื่นๆก็ดี เช่น ผู้จัดการแฟนตาเซีย,คาวาจิ,อาสุมะ ที่ทั้งบ๊องทั้งเอาจริงเอาจังได้ดีพอควร ส่วน ทสึกิโนะ นั้นก็มีการเปลี่ยนคนพากย์กลางคัน โดยคนที่พากย์แทนก็จัดว่า O.K. ในระดับหนึ่ง เสียงก็ฟังดูเด็กขึ้น เมื่อเทียบกับคนเก่าที่ฟังดูเป็นผู้ใหญ่มีอายุเกินไป

  เอวานเกเลี่ยน (Tiga)
  น่าทึ่งจริงๆสำหรับอนิเมเนื้อหาเข้าใจยากเรื่องนี้ ที่คาแร็คเตอร์ตัวละครกับคนพากย์นั้นเข้ากันดี จึงทำให้มีใครต่อใครคนที่ได้ดูนั้น ต่างก็ชมเชย โดยเฉพาะเสียงของ อายานามิ เรย์ ที่ทำได้อย่างเนียน

  ยอดนักสืบจิ๋วโคนัน (Tiga)
  สำหรับเจ้าหนูโคนันนั้น ก็มีพากย์กันอยู่หลายทีม ทั้งแบบฉบับ ช่อง 9,Tiga,True Visions, Hit และ ค่ายไพเรทอื่นๆ ซึ่งก็ได้อรรถรสดีและแย่แตกต่างกันไป ก็เลยตัดใจเลือกเวอร์ชั่นของ Tiga เพราะ เสียงของโคนันนั้นรับประกันคุณภาพจากนักพากย์ประสบการณ์สูง ที่ทำเสียงเข้ม แอบแบ๊ว ใกล้เคียงกับคาแร็คเตอร์ เสียงของชินอิจิก็ได้พระเอกตลอดกาลของทีมพากย์นี้รับหน้าที่ไป ฟังแล้วดูมีเสน่ห์มากกว่าชินอิจิเวอร์ชั่นอื่น ส่วนเสียงของรันนั้น ก็ประมาณนางเอกจริงๆ เสียงไม่เด็กมากแบบ True Visions และ เสียงไม่แก่จนเกินไป แบบ ช่อง 9 ส่วนเสียงตัวละครตัวอื่นๆก็จัดว่า O.K. จะมีแต่เสียงของสารวัตรชิราโทริที่อาจฟังดูแปลกๆไปซักหน่อย

  ดร.สลัมป์ และ หนูน้อยอาราเล่ (ช่อง 9)
  เหตุผลที่ใส่ในลิสต์ยอดเยี่ยม ก็คล้ายๆกับโดราเอม่อน ทางช่อง9 คือ ตัวละครอย่าง โนริมากิ เซมเบ้,อาราเล่ หรือ คุณครูมิโดริ ต่างก็มีการสร้างเสียงคาแร็คเตอร์มาตั้งนานแล้ว จึงเป็นตัวละครที่หาคนมาพากย์แทนแล้ว ยากที่จะสร้างความประทับใจได้เท่า ส่วนคนพากย์ในทีมต่างก็มีลูกรับ-ส่งมุขเข้าขากันดี สมกับเป็นการ์ตูนเบาสมองเรื่องนี้เลย

  ก้าวแรกสู่สังเวียน (ช่อง 9)
  ส่วนเรื่องนี้ ถึงแม้จะมีการพากย์นอกบทมากไปหน่อย แต่ก็ช่วยให้ความรู้สึกฮา ลดความเครียดของเรื่องไปได้บ้าง โดยคนพากย์ในทีมต่างก็มีลูกรับ-ส่งมุข เข้าขากันเหมือนเคย

  ดราก้อนบอล (ช่อง 9)
  การ์ตูนยอดฮิตตลอดกาลเรื่องนี้ ก็เป็นเรื่องที่เหล่าทีมพากย์ช่อง9 ได้สร้างมาตรฐานการพากย์เอาไว้สูงมาก โดยเฉพาะเสียงพากย์ของโกคู ที่ใครหลายคนที่ดูทันในเวอร์ชั่นที่ฉายทางช่อง9 ต่างก็พูดเสียงเดียวกันว่า ไม่มีใครพากย์ได้อารมณ์เท่าอีกแล้ว และที่น่าทึ่งเข้าไปอีก ก็ตรงที่ความสามารถของน้าต๋อย ที่สามารถ พากย์ โกคู ไปพร้อมๆกับ ฟรีเซอร์ ในตอนๆหนึ่งทั้งตอนได้ ชนิดที่ทำให้คนดูได้ลุ้นกันสนุกเลย ส่วนตัวละครตัวอื่นที่สร้างมาตรฐานการพากย์เอาไว้สูง จนคนจดจำได้ว่า เสียงของคนนี้ ต้องเป็นคนนี้พากย์ นั่นคือ เบจิต้า และ พิคโกโร่ ส่วนข้อเสียนั้น ก็คงจะเป็นชื่อของ โกคู ที่เพี้ยนเป็น "โงกุน" นี่เอง

  ชินจังจอมแก่น (ช่อง 3)
  จริงๆแล้ว ทีมพากย์ของช่อง3ในสมัยก่อน ก็จัดว่าพากย์การ์ตูนได้เด่นเหมือนกัน แต่ไม่ค่อยมีใครพูดถึงมากเท่ากับช่อง9 โดยเรื่องนี้ก็เป็นอีกเรื่องที่ช่อง3พากย์ได้ฮาจริงๆ แถมเสียงพากย์ของตัวละครก็วางได้เหมาะสมกับตัวละครนั้นๆ เลย ทั้งฮิโรชิ ก็พากย์กะล่อนได้ใจ มิซาเอะ ก็พากย์สมบทบาทคุณแม่ขี้ยั๊วะจริงๆ แล้วก็ ชินจัง ที่ต้องถือว่า พากย์ได้กวน กะล่อน ทะเล้นสุดๆ ใกล้เคียงกับต้นฉบับอีก เรียกได้ว่า ครบเครื่องจริงๆสำหรับทีมพากย์ของเรื่องนี้

  Cheeky Angel - หนุ่มเฮ้วเป็นสาวฮ็อต (True Visions)
  ก็เป็นการ์ตูนไม่กี่เรื่องที่ฉายทาง True Visions ที่ทำให้ผู้เขียนประทับใจกับการพากย์ได้ ก็ถือว่าทีมพากย์ทีวีแชมเปี้ยนก็ทำการบ้านกับเรื่องนี้มาอย่างดี เพราะ พากย์ได้ฮาจริงๆ นางเอกก็เสียงหวานจ๋อยแอบห้าว พระเอกก็พากย์ได้ต๊อง เข้มแข็งสุดๆ แม้ว่า กลางเรื่อง จะมีการเปลี่ยนเสียงพากย์ของ โซกะ พระเอกของเรื่องกลางคัน แต่ก็ไม่ทำให้อรรถรสเสียแต่อย่างใด เสียแต่ว่า คิวของนักพากย์ชายในทีม ไม่ค่อยจะลงตัวเท่าไหร่ จึงมีการเปลี่ยนเสียงตัวละครค่อนข้างบ่อย ก็ทำให้อรรถรสในการชมขาดหายไปบ้าง

  รวมซีรี่ย์การ์ตูนที่ฉายทาง Cartoon Network (True Visions)
  คอการ์ตูนที่เป็นสมาชิก True Visions ส่วนใหญ่ก็มีความเห็นตรงกันว่า ทีมพากย์การ์ตูนช่อง Cartoon Network นั้น พากย์ได้สนุก ได้อารมณ์ มากกว่า ทีมพากย์การ์ตูนทีมอื่นๆทาง True Visions เหตุผลหลักๆก็คงจะมาจากการที่การ์ตูนในช่องนี้ล้วนเป็นการ์ตูนฝรั่ง ซึ่งทีมงานฝรั่งค่อนข้างจะเข้มงวดตรงเสียงพากย์ตัวการ์ตูนมาก ก็เลยมีการคัดสรรนักพากย์ ที่จะมารับบทพากย์ตัวการ์ตูนกันเป็นอย่างดี ก็เลยมีผลทำให้การ์ตูนที่ฉายทางช่องนี้ ไม่ว่าจะเป็น ง๊องแง๊งและเงอะงะ(Cow & Chicken), ห้องทดลองของเด็กซ์เตอร์ , Power Puff Girl, Johnny Bravo ฯลฯ ต่างก็ได้รับคำชมจากคนดู ในแง่ของการพากย์ได้หลุดโลก ฮา ราวกับว่า ตัวการ์ตูนเหล่านั้นมีชีวิตจริง

  กัซเบล (Amigo,ช่อง9)
  เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่มีคนดูชมเหมือนกัน โดยเฉพาะการพากย์ที่ค่อนข้างจะเข้าขา มุขตลกก็ปล่อยพอขำ เสียงของตัวละครอย่าง คิโยมาโระ ที่ฟังแล้วเท่ห์เก๊กหลุดได้พอๆกัน ส่วน กัซ ก็พากย์ได้น่ารัก เอ๋อ เช่นเดียวกัน

  Full Metal Panic(Amigo)
  เป็นเรื่องที่เสียงพากย์กับคาแร็คเตอร์ตัวละครค่อนข้างจะเข้ากันอีกเรื่องหนึ่ง โดยพากย์ค่อนข้างสมบทบาท ส่วนจะเป็นยังไงนั้น ลองหาซื้อดูนะ

  School Rumble(Amigo)
  เป็นอนิเมอีกเรื่อง ที่ได้รับความคาดหวังจากแฟนๆของการ์ตูนเรื่องนี้ว่า จะพากย์สนุกเท่ากับเวอร์ชั่นญี่ปุ่นหรือเปล่า อันเนื่องมาจากมีมุขวัฒนธรรมค่อนข้างจะเยอะ แต่เอาเข้าจริงๆ ก็ถือว่าเป็นเรื่องที่พากย์ไทยค่อนข้าง O.K. อีกเรื่องหนึ่ง ได้อารมณ์ความตลกเต็มเปี่ยม ส่วนฮาริมะก็พากย์ได้สมบทบาทจริงๆ

  คุโรมาตี้ โรงเรียนคนบวม (True Visions)
  จัดเป็นเรื่องหนึ่งที่น่าจะพากย์ให้สนุกนั้นค่อนข้างยาก ก็เพราะเป็นมุขตลกที่ยากแก่การเข้าใจ มีแต่เฉพาะกลุ่มเท่านั้นที่เก็ต หากจะแปลบทแบบทื่อๆ ก็จะแป๊กสุดๆ แต่ทีมพากย์ทีมนี้ก็สามารถพิสูจน์ตนเองได้ว่า สามารถพากย์การ์ตูนเรื่องนี้ได้เจ๋ง แถมเสียงพากย์กวนๆของเหล่านักพากย์ชายในทีมก็เข้ากับคาแร็คเตอร์ตัวละครไปด้วย ส่วนทีมแปลนั้นก็ขอชมว่า มีการศึกษาบทเป็นอย่างดี เพราะแปลออกมาแล้ว ราวกับว่า คำพูดนั้นออกมาจากฉบับรวมเล่มเลย

  เคโรโระ (Rose,TITV)
  เหตุที่เพิ่งมาใส่เคโรโระลงในลิสต์นี้ ก็เพราะตอนที่เขียนบทความนี้ครั้งแรก ยังไม่มีโอกาสได้ดูเรื่องนี้เท่าไหร่ แต่พอติดตามได้สักพัก ก็พบว่าทีมนี้ทำการบ้านมาดีมาก จนน่าจะจัดให้เป็นทีมพากย์การ์ตูนสุดประทับใจประจำปี 2007 มาครอง จุดเด่นๆก็คือ การจัดเสียงพากย์กับตัวละครเข้ากันได้เป็นอย่างดี แถมยังได้นักพากย์ประสบการณ์สูงมาพากย์กันเพียบ พวกเขายังคงทำหน้าที่กันได้ดี ช่วยประคองนักพากย์หน้าใหม่ในทีมให้ทำหน้าที่กันยอดเยี่ยม แม้ว่าเสียงจะคล้ายคลึงกันก็ตาม แต่ก็มีการรับส่งมุขกันตลอด รวมไปถึงการแปลบทที่ทำได้เป็นอย่างดี ทำให้ดูแล้วฮาก๊าก สนุกสนานไปซะทุกตอน จนลืมข้อเสียจุดเล็กจุดน้อยไปเลย

  มิรุโมะ ภูติจิ๋วจอมป่วน (True Visions)
  เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่คอการ์ตูนทาง True Visions ยกนิ้วให้ เพราะพากย์ได้น่ารักมากๆ ทั้งเสียงของ มิรุโมะ เอย,ริรุมุ เอย, ยาชิจิ เอย รวมไปถึง เสียงคู่พระ-นางในเรื่องที่จัดบทได้อย่างลงตัว ผิดกับเสียง ยูกิคุง พระเอกของเรื่อง ในเวอร์ชั่นช่อง 9 นั้น เสียงแก่ไป ส่วนเสียงของอาซึมินั้น ถึงจะฟังดูเด็กเกินไป แต่อย่างน้อยก็ยังดีกว่าช่อง 9 ละน่า

  Card Captor Sakura (True Visions)
  เป็นอีกเรื่องที่ตัดสินใจไม่ถูกว่าจะเลือกของเวอร์ชั่นดี ระหว่าง True Visions ,ช่อง 9 และ DEX จนในที่สุดก็ตัดสินใจเลือกของ True Visions ไป เหตุผลหลักก็มาจากการวางตัวนักพากย์กับตัวละครที่ดูแล้วลงตัวมากกว่าเวอร์ชั่นอื่นๆ แม้ว่า เสียงของซากุระของ True Visions จะแหลมน่าเกลียดไปสักหน่อยก็ตาม (ในความคิดของผม เสียงคิโนโมโตะ ซากุระ เวอร์ชั่นช่อง 9 นั้นดีที่สุด)

  แฮมทาโร่(True Visions,Tiga)
  ไม่ค่อยได้สัมผัสกับการ์ตูนแนวเด็กๆมากเท่าไหร่ แต่พอลองเปิดผ่านๆ ฟังๆดูแล้ว ก็จัดเป็นเรื่องที่พากย์ได้น่ารักอีกเรื่อง นอกจากเสียงตัวละครออกมาโอเค การพากย์นั้นก็ไหลลื่น ได้อารมณ์สนุกสนาน สมกับเป็นการ์ตูนที่ดูแล้วจรรโลงใจเหมาะกับทุกเพศทุกวัย

  กินทามะ (Tiga)
  กินทามะ ก็เหมือนกับอนิเมแนวตลกโปกฮาเรื่องอื่นๆ ที่คออนิเมบ้านเราต่างก็คาดหวังว่า จะพากย์ฮาหรือเปล่า หรือ บ้างก็ไม่ได้คาดหวังอะไร เพราะต้นฉบับพากย์ได้สุดยอดอยู่แล้ว แต่พอลองมาฟังเสียงไทยจริง ก็พบว่า ไม่ผิดหวังเลย คุ้มค่ากับตังค์ค่าวีซีดีจริงๆ ส่วนหนึ่งต้องชมทีมแปลที่พยายามแปลมุขได้ใกล้เคียงกับฉบับหนังสือการ์ตูนภาษาไทยเลย อย่างเช่น C-Kids หรือจะเอาเรื่องราวในบ้านเราไปยำเป็นมุขตลกอย่างสนุกสนาน ในส่วนของเสียงพากย์ตัวละครนั้น ถือว่าโอเคเลย โดยเฉพาะ คางุระ ที่พากย์สำเนียงจีนออกเสียงน่ออย่างเนียน หรือจะเป็น ป้าโอโทเซะ กับ ซัทจัง ที่เลือกคนพากย์ได้เหมาะสมจริงๆ ส่วนคุณกินก็เสียงเท่ห์ (แต่อยากให้เสียงกวนกว่านี้) รวมถึง ฮิจิคาตะ ที่ฟังแล้วก็ได้อารมณ์"เบจิต้า"สุดๆ หากจะมีตินิดนึง ก็ตรงเสียงของแคทเธอรีนเนี่ยล่ะ ดูไม่เข้ากันเท่าไหร่ (เข้าใจว่าเป็นนักพากย์ใหม่ อาจพากย์ติดขัดหน่อยในช่วงแรกๆ)

 

   List อนิเมพากย์ไทยสุดเห่ย
  หลังจากชมอนิเมพากย์ไทยเรื่องเด่นๆแล้ว ก็ขอกล่าวถึง อนิเมที่พากย์ได้น่าผิดหวังกันบ้าง

  ฮิคารุ เซียนโกะ ภาคแรก (ช่อง 3)
  ถึงHow Come จะลงทุนด้วยการจ้างดารานักร้องชื่อดังในบ้านเรามาพากย์เสียงของเหล่าตัวละครหลักๆ แต่ทว่า ด้วยการที่พวกเขาไม่ใช่นักพากย์อาชีพ มีเวลาในการเตรียมพากย์น้อยเกินไป แถมการคาสติ้งนักพากย์นั้น ก็ยังขัดๆกันอยู่ (โดยเฉพาะ โทยะ) ก็เลยมีผลทำให้อนิเมเรื่องนี้ไม่ได้ช่วยเรียกเรตติ้งมากเท่าที่ควร แฟนๆของการ์ตูนเรื่องนี้เลยหันไปฟังเสียงพากย์จากวีซีดีลิขสิทธิ์ ดีกว่าจะมาฟังดาราพากย์เสียอีก ก็ทำให้ภาคสองจึงมีการเปลี่ยนทีมพากย์ยกชุด โดยเอานักพากย์มืออาชีพมาพากย์แทน

  สงครามเกมไพ่ - Duel Master (True Visions)
  ถึงจะบอกว่าเป็นการ์ตูนให้เด็กๆดูก็เถอะ เด็กๆไม่คิดอะไรมาก แต่สำหรับคนดูที่อยู่ในวัยอื่นนะ เขาคิดมากครับท่าน เหตุที่เรื่องนี้ยังพากย์ไม่ประทับใจผู้เขียนเอามากๆ ก็ต้องโทษคนแจกคาแร็คเตอร์ให้นักพากย์เต็มๆ เพราะ หลังจากการย้ายไปอยู่ทีมอื่นของนักพากย์เสียงหล่อ เจ้าของสโลแกน "ทีวีแชมเปี้ยน ขอเสนอ..........ผู้นี้นี่เอง" นั้น เสียงพระเอกที่มาพากย์แทนนั้น ก็กลับทำให้รู้สึกเป็นมลพิษทางหูมากขึ้น เพราะไม่รู้ว่าเอาคุณลุงที่ไหนมาพากย์ ฟังแล้วไม่ได้รู้สึกว่า "โชบุ" พระเอกของเรื่องนั้น เป็นหนุ่มน้อยมาดพระเอกเอาซะเลย แถมที่น่าตกใจไปกว่านั้น เสียงตัวละครที่อายุรุ่นราวคราวเดียวกันก็มีเสียงลุงปะปนอยู่ด้วยเหมือนกัน

  เกมกลคนอัจฉริยะ - Yugioh ปี3 -ปัจจุบัน (True Visions)
  เหตุที่จัดลิสต์ไว้ยอดแย่ ก็เหมือนกับเรื่องข้างบน หลังจากนักพากย์คนเก่าๆในทีมนี้ออกไป ซึ่งคนที่มาแทนนั้นก็ทำได้อย่างน่าผิดหวัง นับตั้งแต่ภาคสามเป็นต้นมา เชื่อได้เลยว่า หากใครเปิดมาดูยูกิโอ แล้วจะตกใจกับเสียงของ มุโต้ ยูกิ ที่เปี๋ยนไปเป็นคนละคน จนต้องคิดในใจว่า "ทำไมเสียงมันแก่จังฟร้า" "เอาคุณลุงที่ไหนมาพากย์อีกเนี่ย" สงสัยนักพากย์ชายทีมนี้จะนิยมเสียงวัตถุโบราณสินะ ถึงจะพยายามเก๊กเสียงแหบแก่ๆให้ดูเป็นหนุ่ม แต่ก็เสียใจด้วยเพราะ เสียงคุณนะมันเป็นจุดอ่อนของเรื่องไปแล้ว แต่ความสามารถในการพากย์ของคุณในบทบาทอื่นๆโดยรวมก็ดีนะ ก็ต้องโทษคนแจกบทพากย์อีกตามเคยนะแหละ ที่น่าจะคิดก่อนว่า พระเอกไม่ควรจะเสียงแก่ไปกว่านี้.....

  Project Arm (True Visions)
  อันนี้ก็ต้องเห็นใจหน่อย เพราะ เนื้อหาของเรื่องค่อนข้างจะซับซ้อน มีแต่ศัพท์เทคนิคเต็มไปหมด ยากที่จะแปล ก็เลยทำให้ฟังแล้วไม่ค่อยจะรู้เรื่อง แถมตัวละครบางคนก็มีการเปลี่ยนคนพากย์ไปซะชั่วคราว เพราะ คิวพากย์ไม่ลงตัว ก็เลยยิ่งไปกันใหญ่ แต่พูดก็พูดเถอะ คนที่มาพากย์แทนในยามที่คนพากย์ขาดๆหายๆเนี่ย ควรจะดีกว่านี้

  Samurai Deeper Kyo (DEX,ช่อง9)
  ถึงจะได้ทีมงานของช่อง 9 และ น้าต๋อยมาช่วยพากย์ แต่กลับกลายเป็นว่าเรื่องนี้เป็นอนิเมพากย์ไทยที่จัดอยู่ในแบล็คลิสต์การพากย์ยอดแย่ เพราะ คาแร็คเตอร์ตัวละครกับคนพากย์นั้นค่อนข้างจะขัดกันมาก เสียงพากย์เพี้ยน การแปลบทก็ยังไม่ค่อยดี แถมจุดอ่อนที่สำคัญที่ทำให้เรื่องนี้มีการพากย์ที่ไม่ประทับใจนั่นก็คือ นักพากย์ชายในทีมของน้าต๋อยนั่นเอง ที่ยังคงเส้นคงวา ทำเสียงโมโนโทนตลอด ตั้งแต่ต้นเรื่องยันจบเรื่อง บอกตรงๆว่า ยังสู้ เคียวที่ทีมของ True Visions พากย์ไม่ได้เลย

  นารุโตะ นินจาจอมคาถา (Rose)
  อันนี้ก็มีเสียงวิจารณ์ในแง่ลบจากแฟนนารุโตะ ในเรื่องของการพากย์มากพอควร หลักๆก็คือ หลายคนยังคิดว่า นารุโตะ นั้นคือ "โดราเอม่อน" ปลอมตัวมา ถึงจะพยายามดัดเสียงให้เข้มแล้วก็ตาม แต่ก็ยังไม่สามารถสลัดคราบจากโดราเอม่อนได้เลย ส่วนตัวละครตัวอื่นๆบางตัว เสียงพากย์ก็ยังขัดๆกันอยู่ แถมมีบางช็อตที่กำลังลุ้นมันส์ก็ดันพากย์แบบท่องหนังสือไปซะได้

  Sakura Taisen(ช่อง 7)
  จริงแล้วเรื่องนี้ก็จัดว่าพากย์โอเคพอสมควร แต่จุดที่ผิดพลาดครั้งใหญ่ที่ทำให้ต้องมาอยู่ในกลุ่มนี้ นั่นก็คือ ตัวละครที่ชื่อว่า "คิริชิม่า คันนะ" ที่เผอิญหน้าตา หุ่นเหมือนผู้ชายไปหน่อย ก็เลยต้องใช้ผู้ชายพากย์เสียงซะเลย กลายเป็นความผิดพลาดโดยไม่ได้ตั้งใจที่ทำเอาคนดูไม่ประทับใจไปซะได้

  ดราก้อนบอล (TITV,DEX)
  สืบเนื่องมาจากมาจากการที่ เวอร์ชั่นช่อง 9 ได้สร้างมาตรฐานการพากย์ได้อย่างดีเยี่ยม แน่นอนว่าเวอร์ชั่นที่ฉายทาง TITV นี้ ก็เลยถูกคาดหวังเอาไว้สูงมาก สำหรับคนที่ทันในเวอร์ชั่นช่อง9 ถึงแม้ว่าในเวอร์ชั่นปัจจุบันที่ฉายอยู่นี้ จะมีนักพากย์บางส่วน ที่เคยพากย์ให้กับเวอร์ชั่นของช่อง9มาช่วยบ้าง แต่ก็ยังไม่สามารถสร้างความประทับใจได้เท่ากับช่อง 9 เลย แถมยิ่งพากย์ก็ยิ่งเละ นับตั้งแต่ โกคู ที่ได้เสียง "คิระ ยามาโตะ" จากกันดั้ม ซีด มาพากย์ แต่จนแล้วจนรอด พี่แกก็ยังคงพากย์ได้หน่อมแน้มเสมอต้นเสมอปลาย ขนาดตอนโกรธฟรีเซอร์สุดๆ ก็ยังคง "เรา" กับ "นาย" อยู่เสมอ ซึ่งการจะพากย์ตัวละครให้พูดสุภาพ เพื่อเป็นแบบอย่างที่ดีของเด็กๆที่ชม ก็ไม่ใช่เรื่องผิดแต่อย่างไร แต่ควรจะดูสถานการณ์ของเรื่องประกอบไปด้วยถึงจะดี ส่วนคนอื่นๆนั้นก็มี บลูม่า ที่มีการเปลี่ยนคนพากย์กลางคัน ซึ่งคนที่พากย์แทนก็พากย์ได้ไม่มีเสน่ห์เอาซะเลย ส่วนคุริลินนั้น ก็ถือเป็นจุดอ่อนของเรื่องเหมือนกัน ในแง่ที่พากย์ปล่อยมุขฝืดๆเกร่อโดยที่ไม่ได้ดูสถานการณ์ของเรื่องเลย แถมคาแร็คเตอร์ของคุริลินนั้น ก็ไม่ได้เป็นตัวตลกปล่อยมุขซักหน่อย ส่วนฟรีเซอร์นั้น บอกตรงๆว่า เสียงหล่อไปนิด ไม่เข้ากับตัวเลย และอีกจุดหนึ่งที่ผิดพลาดก็คงจะเป็นชื่อตัวละครที่เรียกกันอย่างเพี้ยน โดยเฉพาะ "คุรุลิน" ส่วน "โงกุน" นั้น ถ้าเป็นไปได้ ช่วยเรียกชื่อให้ถูกด้วยก็จะดีมาก อย่าพยายามยึดการเรียกของช่อง 9 เป็นหลักจนเกินไป

  Bleach (True Visions)
  บอกตรงๆว่า ผมเพิ่งจะมีโอกาสได้ดูบลีชทางTrue Visionsเอาก็ตอนปีสองเนี่ยล่ะ ถึงแม้ว่าทีมของ True Visions ทีมนี้จะพากย์การ์ตูนมิรุโมะได้อย่างน่ารักก็ตาม แต่สำหรับเรื่องนี้นั้นกลับทำได้น่าผิดหวัง จุดที่ต้องโทษมากที่สุดก็คงจะหนีไม่พ้นการจัดบทพากย์ที่เอาแน่เอานอนไม่ได้เลย ทำให้เสียงตัวละครตัวหนึ่งมีการเปลี่ยนเสียงพากย์กันบ่อย แม้ว่าตัวละครจะเยอะจนรู้สึกเห็นใจก็ตาม ยกตัวอย่างเช่น ตัวละครอย่าง งิน,แช้ด,โอริฮิเมะ หรือ คนอื่นๆ ในปีแรกใช้เสียงนึง พอขึ้นปีสอง ดันเปลี่ยนเสียงพากย์กันซะมั่วเลย (แต่ทว่า โอริฮิเมะ กลับมาใช้เสียงเดิม ทั้งๆที่ผมชอบคนที่มาพากย์แทนช่วงนึงมากกว่า) นอกจากนี้ทีมนี้ก็ยังคงเส้นคงวาในการนอกบทยิงมุขฝืดๆกันจนเกร่อ ทั้งๆที่มันไม่ใช่รายการ Cooking Showdown ซักหน่อย รวมไปถึงเสียงพากย์ตัวละครบางตัวที่ขัดกันเกินไปจนแฟนๆไม่ปลื้ม โดยเฉพาะกับ คู่"พี่เขย"กับ"น้องเมีย"อย่าง เบียคุยะ กับ ลูเคีย ....เอาเป็นว่า เป็นความโชคดีของทีมพากย์โรสไป ที่ได้พากย์เรื่องนี้ทีหลัง แต่กลับทำได้ดีกว่าทีมคุณซะอีก

  Eye Shield 21 (True Visions)
  สำหรับเรื่องนี้ ก็ยังคงรับประกันความแหกต่วยจากทีมพากย์การ์ตูนซีรี่ย์"ตระกูลดวลไพ่"เช่นเคย ดูเหมือนว่าคนจัดบทพากย์ยังขาดพัฒนาการเหมือนเดิม ทำเอาเหล่าบรรดาตัวละครเสียงขัดกันตรึม รวมไปถึงทักษะของนักพากย์บางคนที่ฝีมือไม่ถึงขั้นแต่กลับได้พากย์บทตัวเอกไปซะแล้ว เริ่มจาก เซนะ ที่พี่คนพากย์แกยังคงยึดถือความโมโนโทน ไม่เป็นธรรมชาติเหมือนเช่นทุกเรื่องๆที่พากย์ (แต่ทีตัวตลกประจำรายการ X-Man ไหงกลับพากย์ดีหว่า.....) ส่วนพี่มาโมเสียงไม่เข้ากับบุคลิกจริงๆให้ตายเหอะ(เสียงพากย์สึซึนะดูจะเหมาะสมกว่า) ส่วนซากุราบะ ขวัญใจสาวๆจากทีมโอโจ ก็ได้เสียงแหบๆแก่ๆจากยูกิโอมาพากย์จนทำเอางงว่า หมอนี่เป็นคนเจ้าเสน่ห์ของสาวๆจริงเหรอ? ฟังไปฟังมา จะมีเสียงพี่ชินเรานี่ล่ะ ที่ดูเข้ากันที่สุดแล้ว
แต่อย่างน้อย ทีมนี้โดยรวมนั้นก็ยังพากย์ดีกว่า Eye Shield 21 ฉบับไพเรทที่วางขายเป็นแผ่นๆนั่นซะอีก


kartoon-discovery.com
May 2007

 


 
free hit counter javascript