รอบรู้เรื่องญี่ปุ่น#2...โรงเรียนของญี่ปุ่นเป็นแบบนี้!!!! นี่เองงงง!!!!!!

  
  (ป.ล.ตรงชื่อหัวข้อ กรุณาอ่านให้ได้อารมณ์ TV Champion มากที่สุด)

  เป็นบทความรับช่วงเปิดเทอมของน้องๆหลายๆคนพอดี หลังจากที่ภาคแรกเราพาไปรู้จักกับจังหวัดต่างๆของญี่ปุ่นแล้ว ภาคนี้ก็เลยเอาเรื่องที่ใกล้ตัวกับน้องๆวัยเรียนกัน นั่นก็คือ เรื่องราวการใช้ชีวิตในโรงเรียนของประเทศญี่ปุ่น ซึ่งแน่นอนว่าบทความนี้เราก็จะเอาการ์ตูนญี่ปุ่นมายกตัวอย่างด้วย

  หากจะสังเกตุกันให้ดีๆ การ์ตูนญี่ปุ่นหลายๆเรื่องนั้น จะนิยมใช้ โรงเรียนเป็นฉากประกอบกันมากที่สุด (เผลอๆจะมากกว่าที่พักอาศัยของเหล่าตัวเอกซะด้วยซ้ำ) โดยฉากดังกล่าวก็จะนำเสนอเรื่องราวต่างๆที่เกิดขึ้นในโรงเรียน ไม่ว่าะเป็นเวลาไปเรียน เข้าเรียน ทำกิจกรรมชมรม แอบโดดไปคุยกันที่ดาดฟ้า กลับบ้าน หรือ แม้กระทั่ง การทดสอบความกล้าที่โรงเรียนตอนมืดๆ เป็นต้น เราจะมาดูกันว่า นักเรียนญี่ปุ่น หรือ ทุกสิ่งทุกอย่างในโรงเรียนญี่ปุ่นนั้น มีอะไรบ้าง และแตกต่างจากโรงเรียนในบ้านเราอย่างไร

ดาดฟ้าโรงเรียน ฉากที่คลาสสิคฉากหนึ่งในการ์ตูนญี่ปุ่น

 

  โรงเรียนของญี่ปุ่น หรือ "กักโค" ถ้านับตามประเภทใหญ่ๆ ก็คล้ายๆกับของเรา แบ่งได้ดังนี้

1. โรงเรียนอนุบาล หรือ โยจิเอ็ง เช่น โรงเรียนอนุบาลฟุตาบะ (หรือ อนุบาลบูม)ใน Crayon Shinchan
2. โรงเรียนประถม หรือ โชกักโค เช่น โรงเรียนของโนบิตะ และ สหาย ในโดราเอม่อน ,โรงเรียนประถมเทย์ตัน ที่เหล่าชมรมนักสืบรุ่นจิ๋วในโคนันเรียนอยู่
3. โรงเรียนมัธยมต้น หรือ จูกักโค โรงเรียนมัธยมต้น เรียน 3 ปี
4. โรงเรียนมัธยมปลาย หรือ โคโค เป็นโรงเรียนไฮ สคูล หรือ มัธยมปลาย เรียน 3 ปี เช่นกัน
5. โรงเรียนเฉพาะทาง หรือ เซมมองกักโค คล้ายโรงเรียนอาชีวะบ้านเรา ส่วนใหญ่ใช้เวลาเรียนแค่ 2 ปี บางที่เรียน 3 ปี

  นอกจากนี้ ยังมีโรงเรียนประเภทอื่นๆ ที่มีลักษณะพิเศษแตกต่างกันไป คือ

1. โรงเรียนเตรียม จูคุ หรือ โยบิโค เป็นโรงเรียนที่เรียนเพื่อเตรียมเข้าระดับมหาวิทยาลัย โรงเรียนแบบนี้ โมโตสุวะ ฮิเดอากิ พระเอกของ Chobits เรียนอยู่ หรือ มานากะ จุนเปย์ และ โทโจ อายะ จาก Ichigo100% ก็เรียนที่นี่เช่นกัน
2. โรงเรียนประถม - มัธยมต้น หรือ โชจูกักโค เป็นโรงเรียนที่มีระดับประถม และมัธยมต้นปรวมกัน
3. โรงเรียนหญิงล้วน หรือ โจฉิกักโค เป็นโรงเรียนหญิงล้วน
4. โรงเรียนสำหรับผู้พิการ หรือ โยโงกักโค เป็นโรงเรียนที่อำนวยความสะดวกให้ผู้พิการ โดยแบ่งระดับการเรียนเหมือนกับโรงเรียนปกติทั่วไป
  ฯลฯ

  โดยการเปิดการเรียนการสอนของเขา จะแบ่งเป็น 3 ภาคเรียน แบ่งช่วงวันหยุดตามฤดูกาลที่เกิดขึ้น คือ ฤดูหนาว (ฟุยุยาสุมิ) ฤดูใบไม้ผลิ (ฮารุยาสุมิ) ฤดูร้อน (นัทสึ) โดยช่วงฤดูใบไม้ผลิ นั้นก็เป็นช่วงที่โรงเรียนต่างๆ เปิดเรียนขึ้นชั้นใหม่ ถือว่าเป็นภาคเรียนแรกของปีการศึกษา โดยเห็นได้จากเวลาไปเรียน มีดอกซากุระบานเต็มไปหมด ก็หมายถึงฤดูแห่งการเปิดเรียนนั่นเอง ส่วนฤดูที่นักเรียนชอบที่สุด ก็คงไม่บอกหรอกนะครับ ยังไงๆ ก็ต้องเป็นฤดูร้อนแน่นอน เพราะมีช่วงหยุดยาวประมาณสองเดือน.......

  หากจะพูดถึงการมาโรงเรียนของหนุ่มสาวชาวญี่ปุ่น ส่วนใหญ่พวกเขาก็จะเลือกเรียนโรงเรียนที่ใกล้บ้านที่สุด โดยวิธีการมาโรงเรียนนั้นก็หลากหลาย ที่เห็นในการ์ตูนมากที่สุดก็คือ การเดินไปโรงเรียน หรือ ไม่ก็ การขี่จักรยาน (เช่น ซากุรางิ กับ รุคาว่า ในสแลมดังก์) หรือ นั่งยานพาหนะ อย่างเช่น นั่งรถบัส หรือ รถไฟ (แต่จะมีหัวโจกโรงเรียนคุโรมาตี้อย่าง ทาเคโนะอุจิ ยูทากะ หากไม่จำเป็นจริงๆก็ไม่อยากเลือกเดินทางแบบนี้ เหอๆ)

  บางคนอาจแปลกใจว่า โรงเรียนอยู่ใกล้บ้านแท้ๆ แต่ทำไมต้องรีบไปโรงเรียนถึงขนาดนั้น ก็เพราะว่า ในระดับ ม.ต้น จะมี คะแนนการเข้าคล้ายๆกับคะแนนจิตพิสัย หรือ ฉุดเซกิ ซึ่งคะแนนนี้ จะถูกนำไปรวมกับคะแนนทำเข้าสอบเพื่อเข้าเรียนระดับ ม.ปลาย ด้วย โรงเรียนของญี่ปุ่น เข้าเรียนตอน 8.30 น. ใครมาช้า ประตูโรงเรียนจะปิดจริงๆ ใครมาไม่ทัน ต้องไปรายงานตัว แล้วถูกตัดคะแนนในส่วนนี้ ซึ่งเหตุผลที่เหล่าตัวละครต้องรีบวิ่งเข้าเรียนก็เพราะเหตุนี้ ส่วนระดับชั้นอื่น หากมาสายก็เป็นอย่างที่เราเห็นกันในการ์ตูนบ่อยๆคือ ออกไปยืนนอกห้องเรียน (โดยเฉพาะ โนบิตะ ยิ่งโดนบ่อยกว่าใคร) และที่สำคัญ หากสังเกตกันให้ดี โรงเรียนทุกแห่งก็จะติดนาฬิกาขนาดใหญ่อยู่บนตัวอาคารเรียน เพื่อเช็คดูว่า เราเข้าโรงเรียนทันตามที่กำหนดหรือเปล่า

เป็นเรื่องปกติที่ โรงเรียนญี่ปุ่นจะมนาฬิกาติดเอาไว้บนตัวอาคารเรียน
(ภาพจาก gettyimages)

 

  อีกสิ่งหนึ่งที่จะขาดไม่ได้ ถ้าพูดถึงโรงเรียนในการ์ตูนญี่ปุ่นที่เราเห็นกันทั่วไป นั่นก็คือ ชุดเครื่องแบบนักเรียนของเขาครับ โดยเครื่องแบบของเขาก็จะมีมากกว่า 1 แบบ คือถ้าเป็นช่วงฤดูร้อน ก็จะสวมชุดแบบสบายๆไม่หนามาก(สบายๆที่ว่า ไม่ได้หมายถึงแต่งไปรเวทเข้าเรียนนะครับ) ส่วนฤดูหนาว ก็จะมีเสื้อมาปิดทับเพื่อไม่ให้หนาวมาก หรือ จะเปลี่ยนเครื่องแบบไปเป็นอีกแบบหนึ่งเลย ซึ่งเครื่องแบบนักเรียนที่เราเห็นกันบ่อยในการ์ตูน ก็มี ชุดนักเรียนแบบ กักคุรัน สำหรับหนุ่มๆ เช่น คุโรมาตี้ หรือ การ์ตูนพวกนักเรียนนักเลง ตีกัน ก็จะสวมแบบนี้ หรือจะแต่งคล้ายๆกับนักเรียนcommerce หรือ นักเรียนพาณิชย์บัญชีเหมือนบ้านเราก็มี ส่วนสาวๆก็ต้องนี่เลย ชุดนักเรียนแบบกะลาสี อย่างพวก Sailormoon เป็นต้น หรือบางโรงเรียนจะแต่งคล้ายๆกับนักเรียนcommerce บ้านเราเช่นเดียวกัน และที่สำคัญ นักเรียนหญิงของที่นั่นเขานุ่ง"สั้น"มาเรียนกันจริงๆ เหมือนในการ์ตูนเด๊ะเลย เพราะเครื่องแบบกำหนดไว้แล้ว (ก็เลยไม่แปลกใจที่บ้านเราเคยมีคนจะหาเรื่องแบนอินุยาฉะ เพราะเห็น คาโงเมะ แต่งชุดเครื่องแบบที่สั้นเกินเหตุ เหอๆ) ผิดกับในบ้านเราที่ นักเรียนหญิงบางคนพยายามจะสวมให้สั้นกันให้ได้สิน่า ทั้งๆที่เครื่องแบบนักเรียนเขากำหนดความยาวกระโปรงเอาไว้ยาวแค่นั้นแหละ
  แต่บางโรงเรียนก็มีสวัสดิการดี หากโรงเรียนไหนมีสระว่ายน้ำ ก็จะมีชุดว่ายน้ำโรงเรียนมาให้ด้วย(พบเห็นได้ในการ์ตูนแนวขายสาวน้อยทั่วไป)

ชุดนักเรียนแบบกักคุรัน ใน คุโรมาตี้
(ภาพที่ให้ดูเป็นเวอร์ชั่นหนัง)
ชุดนักเรียนแบบกะลาสีใน เซเลอร์มูน ที่ยังสามารถใช้เป็นชุดพิทักษ์โลกได้

นี่หละ เครื่องแบบเด็กนักเรียนญี่ปุ่น ที่ทำเอาใครต่อหลายคนหลงใหล
(ภาพจาก gettyimages)

 

  ในโรงเรียนญี่ปุ่นก็จะมีห้อง สถานที่ต่างๆที่คล้ายกับโรงเรียนในบ้านเรา เช่น ห้องแล็บที่ดูมีอุปกรณ์ทันสมัย ห้องพักครู ห้องพยาบาล(แต่ทำไม ในการ์ตูนญี่ปุ่น ครูห้องพยาบาลต้องเป็น สาวหุ่นเซ็กซี่ นุ่งสั้น แทบจะทุกเรื่องเลย) โรงยิมที่นอกจากจะใช้เรียนพละแล้ว ยังใช้เป็นที่จัดพิธีปฐมนิเทศ และ ปัจฉิมนิเทศ เป็นต้น แต่โรงเรียนของญี่ปุ่นก็จะสถานที่ที่เพิ่มมา คือ ห้องเปลี่ยนรองเท้าซึ่งเต็มไปด้วยล็อกเกอร์ ที่จะกล่าวถึงถัดไป

  ส่วนการเข้าเรียน สิ่งที่ควรทำอย่างแรกก่อน ก็คือ "เปลี่ยนรองเท้า" ที่ล๊อกเกอร์ซึ่งอยู่หน้าประตู ให้เป็นรองเท้าผ้าใบบางๆ เหตุที่ต้องเปลี่ยนก็เพราะ ไม่อยากให้เกิดเสียงดังขณะที่กำลังเดินตรงระเบียงชั้นเรียน รวมทั้งรักษาความสะอาดของโรงเรียนอีกด้วย

  ถ้าหากเป็นการเข้าเรียนวันแรก ในแต่ละระดับชั้น หากสังเกตกันให้ดี พอขึ้นชั้นเรียนใหม่จะมีการย้ายสับเปลี่ยนห้องเรียนกันบ่อยมาก (แล้วก็เป็นเรื่องบังเอิญ ที่เหล่าตัวเอก และ เพื่อนตัวเอกของเรื่อง จะอยู่ห้องเดียวกันตลอด ไม่ค่อยจะพลัดพรากกันซักเท่าไหร่ 555) พอมาถึงโรงเรียน ทุกคนก็ไปดูชื่อที่ติดประกาศว่าเราอยู่ห้องอะไร พอรู้ว่าห้องเรียนประจำอยู่ที่ไหน ก็เข้าไปที่นั่น แต่ก่อนจะเข้าไปในห้องเรียน แถมบางห้องก็ทำเก๋ มีการจับสลากกันว่า จะได้นั่งตำแหน่งไหน แถมต้องลุ้นให้ตัวเองได้ที่นั่งที่ต้องการ ก็เล่นเอาเหนื่อยเหมือนกัน (อย่างเช่น School Rumble ตอนแรกๆ ที่เทนมะ ลุ้นให้ตัวเองจับให้ได้ที่นั่งที่ใกล้กับคาราซึมะมากที่สุด) ส่วนบรรยากาศการเรียนก็เหมือนกันทุกที่คือ หากคุณครูกำลังทำการสอน ทุกคนก็ต้องตั้งใจฟัง หากไม่ตั้งใจฟัง ก็มีสิทธิ์ออกไปยืนนอกห้องเรียนได้เหมือนกัน แต่ก่อนที่จะมีการเรียนการสอน ทุกห้องก็จะมีอาจารย์ที่ปรึกษา หรือ ทันนินเซ็นเซย์ มาทำหน้าที่โฮมรูมก่อน คือมีการเช็คชื่อนักเรียน หรือจะแนะนำว่าจะมีกิจกรรมอะไรให้ทำบ้าง เป็นต้น โดยครูที่ปรึกษาจะต้องดูแลนักเรียนของตนตลอดเวลา หากนักเรียนคนไหนมีปัญหา เขาจะคอยเป็นที่ปรึกษา หรือแม้แต่โทรตามตัวเวลานักเรียนไม่มาเรียน หากนักเรียนคนไหนแย่เกินจะเยียวยา ครูที่ปรึกษาจะต้องออกไปยังบ้านของนักเรียนตัวปัญหา เพื่อพูดคุยถกปัญหาของลูกศิษย์กับผู้ปกครอง ดังตัวอย่างที่เห็นได้บ่อยๆในการ์ตูน ซึ่งครูของโนบิตะจะต้องออกเดินทางไปพบพ่อแม่โนบิตะเป็นประจำ จนโนบิตะต้องขอยืมของวิเศษของโดราเอม่อนไปใช้ทุกที

  อีกเรื่องหนึ่งที่มีคนสงสัยกัน จากที่อ่านในการ์ตูน จะเห็นว่า ในช่วงพักกลางวัน ก็มีเด็กนักเรียนหลายคนกินข้าวเที่ยงกันในห้องเรียน ไม่เหมือนกับบ้านเราที่เวลาไปกินข้าวเที่ยวต้องไปกันที่โรงอาหาร และ มันก็เป็นไปตามที่เราเห็นในการ์ตูนจริงๆนะแหละครับ คือ โรงเรียนญี่ปุ่นส่วนใหญ่ไม่ค่อยมีโรงอาหาร จะมีเพียงร้านขายอาหารเล็กน้อยเท่านั้น หากเป็นโรงเรียนใหญ่ มีทุนหนาหน่อยก็จะมีโรงอาหาร และก็มีภารโรงทำอาหารให้นักเรียนกิน (แต่ก็มีบางที่ที่ให้เด็กนักเรียนคอยเป็นเวร เสิร์ฟอาหารให้เพื่อนๆด้วย) หรือบางคนก็นำ อาหารกล่อง,เบ็นโตะ มากินกันตามสถานที่ต่างๆในโรงเรียน

  อีกส่วนหนึ่งที่จะขาดไม่ได้ในโรงเรียน ซึ่งเป็นกิจกรรมในโรงเรียนที่ปรากฏบ่อยมากในการ์ตูน นั่นก็คือ ชมรม หรือ คลับ นั่นเอง โดยการเข้าชมรมนั้นก็แล้วแต่ความสมัครใจของนักเรียนแต่ละคน ว่าจะเข้าร่วมกิจกรรม หรือ บางคนอาจไม่เข้าชมรม ซึ่งก็ไม่มีใครว่าอะไร โดยการทำกิจกรรมที่ชมรมนั้นก็จะมีข้อดีก็คือ การรู้จักเข้าสังคม รู้จักการทำอะไรร่วมกันกับผู้อื่นมากขึ้นนั่นเอง สำหรับการเข้าชมรมนั้น จะต้องทำทุกวันหลังเลิกเรียน หรือ บางชมรมอาจมีนัดพบกันในตอนเช้าก่อนเข้าเรียนก็ได้ ซึ่งผิดกับการเข้ากิจกรรมชมรมในโรงเรียนประถม มัธยมบ้านเรา ที่การเข้าชมรมบางชมรมนั้น เป็นแค่วิชาหนึ่งที่ใครเข้าเรียนตามจำนวนเวลาที่กำหนด ก็จะให้"ผ่าน" แถมมีแค่ 50 นาที ใน 1 สัปดาห์เท่านั้นเอง... ซึ่ง ชมรมของโรงเรียนในญี่ปุ่น แบ่งออกได้เป็น 3 ประเภทใหญ่ๆ ได้

1. บุงคะบุ เป็นชมรมเกี่ยวกับศิลปะวัฒนธรรม เช่น ชมรมชงชา ชมรมนิยาย ชมรมเล่นโกะ ชมรมจัดดอกไม้ เป็นต้น
2. อุนโดบุ เป็นชมรมกีฬาประเภทต่างๆ ไม่ว่า เบสบอล ว่ายน้ำ ฟุตบอล เป็นต้น ยกตัวอย่างเช่น การ์ตูนแนวกีฬาประเภทต่างๆ และว่ากันว่า หากชมรมกีฬาประเภทไหน ประสบความสำเร็จ สามารถเข้าร่วมแข่งขันรอบสุดท้ายในระดับประเทศได้ ก็จะกลายเป็นหน้าตาของโรงเรียนเลย เช่น ชมรมบาสเก็ตบอลในสแลมดังก์ พอโชโฮคุ ได้ไปเล่นรอบสุดท้าย ทุกๆคนในโรงเรียนต่างก็ให้ความสนใจชมรมบาสของโชโฮคุกันมากขึ้น
3. โดโคไก ชมรมที่จัดตั้งขึ้นมาเอง เช่น ชมรมค้นคว้าเรื่องการ์ตูนและเกมจากเรื่อง Genshiken , ชมรม S.O.S จากเรื่อง ฮารุฮิ ก็ได้เช่นกัน หรือ จะเป็น ชมรมเรื่อยเปื่อยอย่าง เดินเล่น ของแฝดสาวนารุทากิในเรื่องเนกิมะ เป็นต้น

ชมรม S.O.S ในเรื่อง Suzumiya Haruhi no Yuutsu

 

  หากจะพูดถึงชมรมในโรงเรียนแล้ว ก็จะมี เนกิมะ เนี่ยแหละ ที่มีชมรมหลากหลาย มีกันเป็นนับ 100 ชมรมเลยทีเดียว แถมนักเรียนมาโฮระ ก็จัดว่าอึด สามารถอยู่ได้มากกว่า 1 ชมรมเลย (เช่น เจ้า หลินเฉิน ล่อไปซะ 5-6 ชมรม) ใครมีเล่มแรกก็ไปดูกันเอาเองนะครับว่าตัวละครหลักๆนั้นอยู่ชมรมอะไรกันบ้าง

  ในทุกปี แต่ละชมรมก็จะมีการจัดงานเป็นของตนเอง เพื่อแสดงให้เหล่านักเรียน และ บรรดาครูอาจารย์ได้เห็นผลงาน โดยคนนอกสามารถเข้าร่วมชมงานได้ แบ่งเป็นสองงานใหญ่ก็คือ
1.งานเทศกาลโรงเรียน เป็นงานประจำปีของโรงเรียน (บุงคะไซ ) ชมรมในกลุ่มก็จะมาร่วมกันจัดงานขึ้น แต่ละโรงเรียนจะมีช่วงเวลาการจัดที่ไม่แน่นอนตามแต่ละโรงเรียน มีการออกร้าน แสดงผลงานต่างๆ หรือ จะเล่นเกม ซึ่งหากจะพูดถึงงานโรงเรียน ก็คงจะหนีไม่พ้น เนกิมะ ที่งานโรงเรียนนั้น ดูจะอลังการงานสร้างที่สุดในโลกการ์ตูน(บางคนก็เรียกเล่นๆว่า เทศกาลงานแต่งคอสเพลย์หมู่กลางโรงเรียน เหอๆ) หรือจะเป็น Ichigo100% ที่กล่าวถึงเยอะพอควร

คืนงานเทศกาลโรงเรียนมาโฮระ จาก คุณครูจอมเวทย์เนกิมะ
 
คุณหนูร้านหนังสือ กำลังพาเนกิเยี่ยมชมความเร้นลับของห้องสมุดโรงเรียน ซึ่งเป็นกิจกรรมชมรมของเธอเอง

 

2.งานอุนโดไก เป็นการแข่งกีฬาประจำปี หรือ จะเรียกว่าเป็นงานกีฬาสีก็ได้ โดยแต่ละชมรมเป็นแม่งาน แล้วมีตัวแทนจากห้องต่างๆ เข้าร่วมการแข่ง ส่วนการแต่งกายนั้น ก็แต่งชุดพละสีขาว และ มีผ้าสีต่างๆโพกหัว เพื่อให้ดูออกว่า เราอยู่ทีมไหน ซึ่งเนื้อเรื่องการแข่งขันระหว่างห้องนั้น ก็ไปหา School Rumble หรือ Eye Shield 21 มาอ่านก็แล้วกัน

งานกีฬาสีของเด็กๆประถมญี่ปุ่น....ไม่ว่าจะแพ้หรือชนะ
ต้องรู้จักน้ำใจนักกีฬาด้วยนะครับ
(ภาพจาก gettyimages)
3 สาว เอริ,มิโคโตะ,เทนมะ จาก School Rumble
กำลังโพสท่า เตรียมรับศึกแข่งกีฬาระหว่างชั้นเรียน

 

ทั้งสองงาน มีจุดที่เหมือนกันคือ แต่ละงานมีจะมีการโหวต มีการตัดสินว่าห้องใด หรือชมรมใด เป็นผู้ที่มีผลงานดีที่สุดในปีนั้นๆ รางวัลที่ได้รับก็เป็นใบประกาศเกียรติคุณ หรือถ้วยรางวัล เป็นตัวการันตีความยอดเยี่ยมนั่นเอง

  อีกกิจกรรมหนึ่งที่ทุกโรงเรียนในญี่ปุ่นให้ความสำคัญ นั่นก็คือ การทัศนศึกษา เป็นกิจกรรมที่จัดขึ้น เพื่อพานักเรียนไปเปิดหูเปิดตา เยี่ยมชม และ ศึกษา สถานที่ต่างๆ เป็นประจำทุกปี โดยโรงเรียนในแถบโตเกียวก็นิยมไปเที่ยวกันที่เกียวโต โดยเฉพาะจุดที่นิยมไปทัศนศึกษาที่สุดก็คือ วัดคิโยมิสึ(วัดน้ำใส) ส่วนโรงเรียนฝั่งเกียวโตก็จะไปเที่ยวโตเกียวบ้าง หรือ จะไปทัศนศึกษากันไกลที่สุดก็คือ เกาะโอกินาว่า (เช่น จีทีโอ ,Azumanga Daioh) ถ้าไฮโซสุดๆก็คือการไปต่างประเทศเลย

วัดคิโยมิซึ
บางทีพวกเขาก็ไปไกลกันถึงโอกินาว่า เลย
อย่างเช่น คุณครูโอนิซึกะ เป็นต้น

 

  และอีกกิจกรรมหนึ่งที่จะต้องมีในโรงเรียน นั่นก็คือ การเปิดให้ผู้ปกครองเข้าชมการเรียนการสอนของนักเรียน แถมเป็นการปรึกษาประชุมพูดคุยระหว่าง ครู กับ ผู้ปกครองไปในตัว หากจะพูดตรงๆก็คงจะเป็นกิจกรรมที่เหล่าเด็กนักเรียนไม่ปรารถณากันซักเท่าไหร่ เพราะวันนั้นนรกอาจมาเยือนก็เป็นได้ ถ้าผู้ปกครองนั้นได้เห็นลูกตัวเองไม่ตั้งใจเรียนแบบนี้ ถ้าเป็นโรงเรียนระดับประถม ในวันที่ผู้ปกครองเข้าชมการเรียนการสอน ก็จะได้เห็นเด็กนักเรียนตั้งใจกันยกมือตอบคำถามมากเป็นพิเศษ แถมคนเป็นผู้ปกครองก็อยากเห็นลูกตอบคำถามได้ หากตอบได้ วันนั้นก็จะเป็นวันที่ผู้ปกครองปลื้มมากวันหนึ่ง

  หลังจากที่เราได้เรื่องต่างๆเกี่ยวกับโรงเรียนของญี่ปุ่นแล้ว สิ่งสุดท้ายที่จะขาดไม่ได้เลยในการใช้ชีวิตในโรงเรียนญี่ปุ่น นั่นก็คือ ธรรมเนียมปฏิบัติ การเคารพนับถือซึ่งกันและกันระหว่าง รุ่นพี่กับรุ่นน้อง ซึ่งเป็นระบบอุปถัมภ์ที่เป็นระบบที่ชาวญี่ปุ่นทุกคนต้องรู้จัก และปลูกฝังมาตั้งแต่ยังเล็ก โดยรุ่นน้อง(โคไฮ)จะเรียกรุ่นพี่ว่า เซ็นไป ส่วนรุ่นพี่ก็จะเรียกรุ่นน้องว่า โคไฮ แต่จะไม่ได้เรียกกันโดยตรง แต่จะพูดถึงบุคคลที่ 3 มากกว่า โดยรุ่นพี่จะต้องทำตัวอย่างดีๆให้กับรุ่นน้อง ส่วนรุ่นน้องก็ต้องเคารพต่อรุ่นพี่อย่างถึงที่สุด โดยกิจกรรมสำคัญที่รุ่นน้องจะต้องทำแก่รุ่นพี่ นั่นก็คือ พิธีจบการศึกษา หากจะเปรียบเทียบก็คล้ายๆกับ พิธีปัจฉิมนิเทศน์ กันในบ้านเรานั่นแหละครับ

  เรื่องราวของโรงเรียนญี่ปุ่น ก็คงจะขอจบลงแต่เพียงเท่านี้ ซึ่งโรงเรียนของที่นั่นก็มีอะไรหลายๆอย่างที่แตกต่าง หรือ คล้ายคลึงกับ โรงเรียนในบ้านเรา แต่ก็อย่างน้อย โรงเรียนในบ้านเราต่างก็มีมนต์เสน่ห์ในของมันเอง ซึ่งก็ทำให้ใครต่อใครหลายคนที่เรียนจบไปแล้ว ต่างก็คิดถึงบรรยากาศเก่าๆในสมัยที่นุ่งคอซอง ขาสั้น ที่เคยร่วมสนุกสนานกันอย่างเป็นมิตรกันนะครับ........

(ภาพจาก gettyimages)

 

อ้างอิงจาก 9wat.blogspot.com/2005/10/japanese-school.html


kartoon-discovery.com
May 2007

 

  


 
free hit counter javascript