เปิดกรุ.....ความเป็นมาของการ์ตูนลิขสิทธิ์ในประเทศไทย


  ในสมัยเด็กๆ หลายคน โดยเฉพาะกับ คนวัย 20 กว่าๆ ก็คงเคยสัมผัสกับ การ์ตูนดังหลากหลายเรื่อง ที่วางขายกันเกลื่อน โดยส่วนใหญ่นั้นก็จะเป็นการ์ตูนแนวต่อสู้ ยุคไอ้มดแดง เซ็นไทกำลังเฟื่องฟู การ์ตูนผู้หญิงตาหวาน หรือจะเป็นการ์ตูนดังที่ฉายทางโทรทัศน์อย่าง โดราเอม่อน ,ดราก้อนบอล ,เซนต์ เซย่า ,หมัดเทพเจ้าดาวเหนือ ,โรงเรียนลูกผู้ชาย ฯลฯ โดยในสมัยนั้น ก็เป็นยุคของการ์ตูนไม่มีลิขสิทธิ์ คือ ไม่ว่าจะเป็นการ์ตูนเรื่องไหน ก็ทำอยู่หลายเจ้า (โดยเฉพาะ ดราก้อนบอล เนี่ยล่ะ ที่นิยมมากที่สุด )แถมราคานั้นก็แสนถูก ราคาต่ำสุด คือ 5-10 บาทเท่านั้น

  และย้อนหลังกลับไปเมื่อ 13 ปีที่แล้ว นักอ่านการ์ตูนในบ้านเราก็ได้สัมผัสกับการ์ตูนฉบับลิขสิทธิ์กัน ถึงราคาจะสูงเมื่อเทียบกับยุคไม่มีลิขสิทธิ์ แต่ได้คุณภาพรูปเล่มมาทดแทน การมาของการ์ตูนลิขสิทธิ์นั้น ก็ทำให้เราได้อ่านการ์ตูนอย่างหลากหลาย และ ก็ทำให้สำนักพิมพ์ต่างๆในยุคไม่มีลิขสิทธิ์ ต่างล้มหายตายจากกันเป็นแถว เหลือเพียงค่ายยักษ์ใหญ่เพียงไม่กี่ค่ายเท่านั้น กว่าที่นักอ่านบ้านเราจะได้สัมผัสกับการ์ตูนฉบับลิขสิทธิ์เหมือนทุกวันนี้นั้น มีเรื่องราวความเป็นมาอย่างไรบ้าง

  The Beginning.....จุดเริ่มต้น
  การ์ตูนญี่ปุ่นญี่ปุ่นเข้ามาในเมืองไทยเมื่อใดนั้น หลักฐานข้อมูลยังไม่แน่นอน บ้างว่า เข้ามาเมืองไทยช่วงปี พ.ศ. 2519 หรือไม่ก็เข้ามาในช่วง พ.ศ.2520-2525 (ข้อมูลจาก Wikipedia) ซึ่งการ์ตูนญี่ปุ่นที่วางขายในสมัยนั้นล้วนเป็นการ์ตูนไร้ลิขสิทธิ์ โดยในสมัยยุคไร้ลิขสิทธิ์ ค่ายใหญ่ๆที่แข่งขันกับตีพิมพ์ออกขายการ์ตูนก็มี วิบูลย์กิจ,สยามสปอร์ตพับบลิชชิ่ง,มิตรไมตรี,ยอดธิดา,หมึกจีน , อนิเมท ,สามดาว และ สำนักพิมพ์อื่นๆ ซึ่งการแข่งขันในช่วงแรกๆ แต่ละค่ายก็นำเสนอจุดเด่นจุดด้อยของตน และ ต่างก็ทำนิตยสารรวมการ์ตูนรายสัปดาห์ เช่น The Talent ของมิตรไมตรี ,The Zero ของวิบูลย์กิจ,Nova ของหมึกจีน,Animate ของ อนิเมท โดยแนวการ์ตูนยอดฮิตในสมัยนั้นก็เป็นแนวต่อสู้ กับ แนวผู้หญิงตาหวาน

การ์ตูนเรื่องที่หลายเจ้านิยมวางแผงแข่งกัน
ล้วนมาจากการ์ตูนดังทางทีวีทั้งสิ้น เช่น ดราก้อนบอล ,เซนต์ เซย่า,โดราเอม่อน
คำสาปฟาโรห์
การ์ตูนผู้หญิงที่โด่งดังในยุคนั้น

  โดยพื้นฐานของวงการนี้มาจากจิตใจที่รักการอ่านของคนที่ชอบการ์ตูน แรกๆก็อยากอ่านการ์ตูนที่ตีพิมพ์อยู่ที่ญี่ปุ่น พอตลาดเริ่มโต ก็เริ่มมีการแข่งขันมากขึ้น มีการตีพิมพ์กับทุกค่ายแย่งลูกค้าคนอ่านกันมา จุดเริ่มต้นก็มาจากการ์ตูนยอดฮิตทุกยุคสมัย อย่าง โดราเอม่อน แต่ละค่ายต่างก็เน้นขายโดราเอม่อนกัน แถมตั้งชื่อก็ไม่เหมือนกัน ทั้ง โดราเอม่อน โดเรม่อน โดราม่อน เจ้าแมวจอมยุ่ง เป็นต้น แถมมีโดราเอม่อนสารพัดเวอร์ชั่นของค่ายสามดาว หนึ่งในนั้นคือ โดราเอม่อนฉบับยำแหลก มีตัวละครจากดราก้อนบอลร่วมแจมด้วย โดยทางมิตรไมตรีออกมาได้เกิน 100 เล่ม ยิ่งอนิเมของโดราเอม่อนมีการแพร่ภาพทางทีวี ก็เป็นการช่วยโหมกระแสของโดราเอม่อนยุคนั้นอีกด้วย ส่วนทางฝั่งการ์ตูนผู้หญิง ก็มีรายสัปดาห์อย่าง เลม่อนของสยามสปอร์ตฯ Gift Extra รายปักษ์ของวิบูลย์กิจ ส่วนรวมเล่ม จะมีแค่ สยามสปอร์ตฯกับยอดธิดา โดยเฉพาะ กับการ์ตูนที่ชาตินี้จะมีวันจบหรือเปล่า อย่างคำสาปฟาโรห์ ที่ยอดธิดา ยังคงตีพิมพ์อยู่ ส่วนการ์ตูนผู้ชาย การมาของดราก้อนบอล ก็ทำให้มีการแข่งขันกันอย่างดุเดือด มีกันแทบทุกค่ายไม่ว่าจะเป็นรายสัปดาห์หรือรวมเล่ม แถมแต่ละค่ายก็เรียกชื่อตัวละครดราก้อนบอลไม่เหมือนกันอีก มีทั้ง หงอคง,โกคู,หงอฮัง,โกฮัง,ปิตโกโร่,พิคโกโร่,เบจิต้า,เบจิต เป็นต้น แถมยังสร้างปรากฎการณ์ในส่วนคนอ่านการ์ตูนสมัยนั้นคือ บ้านเราสามารถติดตามดราก้อนบอลกันอย่างกระชั้นชิด ช้ากว่ากับคนญี่ปุ่นเพียงไม่กี่วันเท่านั้น โดยทางสนพ.ในบ้านเรานั้นก็ลงทุนส่งคนไปที่นั่นเพื่อซื้อ โชเน็นจัมป์ และ ส่งแฟกซ์ต้นฉบับกลับมาที่บ้านเรา ในส่วนการแข่งขันของนิตยสารค่ายต่างๆ ที่แข่งกันอย่างเมามันส์ที่สุดก็คือ The Talent และ The Zero และก็เป็น The Zero ที่ยอดการพิมพ์ถึงหลักแสน ซึ่งสูงที่สุดในขณะนั้น

  End of the Piracy Era ......ช่วงสูญญากาศ
  หลังจากการแข่งขันกันอย่างดุเดือดของยุคไร้ลิขสิทธิ์ ในที่สุดก็ถึงคราวดับ มีผลทำให้คอการ์ตูนไม่ได้เห็นการ์ตูนบนแผงกว่า 8 เดือน!!! จุดแตกหักนั้นก็มาจากมีสำนักพิมพ์ในบ้านเราต่างก็ได้รับจดหมายเตือนให้หยุดการพิมพ์ จำหน่าย การ์ตูนซะ จากสำนักพิมพ์ แอดวานซ์คอมมูนิเคชั่น(ปัจจุบันปิดตัวไปแล้ว) ที่อ้างว่าเป็นสำนักพิมพ์การ์ตูนลิขสิทธิ์ที่ถูกต้องแต่เพียงที่เดียวในประเทศไทย ก็เลยมีผลทำให้ค่ายต่างๆต้องหยุดพิมพ์ มีผลทำให้สำนักพิมพ์เล็กๆต้องโบกธงขาวยอมแพ้ ต่างเลิกทำธุรกิจนี้กันเป็นแถว หนึ่งในนั้น The Talent และ มิตรไมตรีก็ถึงคราวชะตาขาด เมื่อสู้ต้นทุนไม่ไหว ถึงแม้จะพยายามแทรกเนื้อหาเกมลงใน The Talent มาแทนการ์ตูนบางเรื่องเพื่อดึงดูดคนอ่านแล้วก็เถอะ แต่ก็ไร้ผล ส่วนอนิเมท ก็เลิกทำการ์ตูนรวมเล่ม และ รายสัปดาห์ แต่ก็ยังคงทำนิตยสารทีวีแมกกาซีน และ นิตยสารในเครือเล่มอื่นๆอยู่
  ในช่วงที่การ์ตูนหายไป 8 เดือน ก็เป็นช่วงที่สำนักพิมพ์ที่เหลือเริ่มเตรียมพร้อมก้าวสู่เป็นสำนักพิมพ์ลิขสิทธิ์อย่างเต็มตัว

legend comic magazine in thailand
ในยุคไร้ลิขสิทธิ์ ก็มีนิตยสารการ์ตูนรายต่างๆ แข่งกันออกหลายเล่ม หลายเจ้า
โดยดึงการ์ตูนเรี่องที่ได้รับความนิยมในขณะนั้นเป็นตัวชูโรงของแต่ละเล่ม
แต่จากการมาของยุคลิขสิทธิ์ ทำให้นิตยสารการ์ตูนหลายเล่มต่างต้องเลิกพิมพ์กันเป็นแถว

 

  Licence Era.........ยุคลิขสิทธิ์
  การ์ตูนดังเรื่องต่างๆก็กลับมาในนักอ่านบ้านเราได้สัมผัสกันอีกครั้ง ก็ต้องขอบคุณในความพยายามของแต่ละค่ายที่ได้ไปคุยกับเจ้าของลิขสิทธิ์โดยตรง ซึ่งทางเจ้าของเจ้าของลิขสิทธิ์ก็ยื่นคำขาดว่า ถ้าอยากจะทำลิขสิทธิ์จะต้องหยุดทำการ์ตูนไร้ลิขสิทธิ์ทันที และสำนักพิมพ์ต่างๆก็ยอมทำตามเงื่อนไขแต่โดยดี (ส่วนทางเราก็เสนอเงื่อนไขขอพิมพ์รายสัปดาห์แบบตอนต่อตอนจากญี่ปุ่น)เรื่องแรกๆที่ได้รับลิขสิทธิ์ในตอนนั้นก็มแต่เรื่องที่ยังไม่ค่อยน่าสนใจ จนกระทั่งได้เห็นเรื่องลิขสิทธิ์อย่าง "จิ๋วพลังอึด"(การ์ตูนญี่ปุ่นลิขสิทธิ์ถูกต้องเรื่องแรกของวิบูลย์กิจ),ถล่มโรงเรียนอสูร,นิตยสาร Friday Magazine ส่วนทางสยามสปอร์ตฯก็เปลี่ยนเป็น สยามอินเตอร์คอมิคส์ (หรือ สยามอินเตอร์มัลติมีเดีย) การตอบรับในตอนนั้นก็ดีพอสมควร แต่ทางสำนักพิมพ์ก็ยังคงขาดทุนอยู่ดี และ ก็ยังไม่ครอบคลุมมาก ก็เลยทำให้เกิดสำนักพิมพ์ไพเรท ไร้ลิขสิทธิ์ ก็เลยเป็นการแข่งขันกันระหว่างการ์ตูนลิขสิทธิ์กับการ์ตูนไพเรท โดยในขณะนั้น การ์ตูนลิขสิทธิ์ยังคงเสียเปรียบกับเนื้อเรื่องที่ไม่ถูกใจ และ ราคาสูงเมื่อเทียบกับของไพเรท
พอถึงยุคเศรษฐกิจตกต่ำ ทำเอาต้นทุนทางด้านกระดาษสูงขึ้น ก็ทำให้หนังสือการ์ตูนลิขสิทธิ์ต้องเพิ่มราคาหนังสือเป็น 35 บาท (ปัจจุบัน 40-45 บาท) ทั้งที่เมื่อก่อนมีราคาแค่ 20-25 บาทเท่านั้น จากจุดนี้ก็ทำให้สำนักพิมพ์ลิขสิทธิ์เริ่มจะเน้นคุณภาพรูปเล่มของตัวเองให้เหนือกว่าของไพเรท หลังจากที่เมื่อก่อนคุณภาพของการ์ตูนลิขสิทธิ์ยังไม่แตกต่างจากการ์ตูนไพเรทเท่าไหร่ แต่การที่ต้นทุนการตีพิมพ์เพิ่มสูงก็มีผลทำให้สำนักพิมพ์ไพเรทบางแห่งถึงคราวต้องปิดตัวลง แต่บางแห่งก็ยังคงพยายามเพิ่มคุณภาพให้ทัดเทียมกับของลิขสิทธิ์มากที่สุด

  หลังจากที่ยุคลิขสิทธิ์ผ่านไปช่วงระยะเวลาหนึ่ง ในที่สุดก็เข้าสู่ยุคลิขสิทธิ์เต็มตัว โดยค่ายยักษ์ใหญ่ในบ้านเราอย่าง วิบูลย์กิจ และ สยามอินเตอร์ฯ ได้พิสูจน์ตัวเองต่อนักอ่านและเจ้าของลิขสิทธิ์ จนสามารถกรุยทางลิขสิทธิ์อย่างเป็นทางการ รวมถึงการมาของคู่แข่งรายใหม่อย่าง เนชั่น เอ็ดดูเทนเมนท์ ที่นำนิตยสาร BOOM เข้าสู่แผง และ ลิขสิทธิ์ยุคแรกๆของค่ายนี้ก็เป็น ,บูรพัฒน์ เน้นตลาดการ์ตูนจีน-ฮ่องกง และ บงกช คอมิคส์ ที่เน้นตลาดการ์ตูนผู้หญิง แต่ทว่า ก็ยังสำนักพิมพ์ไพเรทที่ยังคงรอดตายมาจนถึงทุกวันนี้ ซึ่งก็ได้แก่ หมึกจีน ,Line Art Planning ,New Project,Ant Comics เป็นต้น

  ปัจจุบันนี้ การ์ตูนลิขสิทธิ์ในบ้านเราก็ยังคงอยู่ได้ และ น่าจะเป็นยุคที่เฟื่องฟูของวงการการ์ตูนในบ้านเรายิ่งกว่าสมัยก่อน ทั้งการ์ตูนหลากเรื่อง หลากประเภท มีทั้งการ์ตูนญี่ปุ่น จีน เกาหลี รวมถึงการพัฒนาการ์ตูนของไทยทั้งอนิเมชั่นและคอมิค แม้จะมีสำนักพิมพ์ไพเรทอยู่บ้างแต่ก็ไม่มีผลใดๆ ต่อค่ายลิขสิทธิ์ ซึ่งการมาของการ์ตูนลิขสิทธิ์นั้น ก็พิสูจน์ได้ว่า สามารถทำให้ผู้อ่านในบ้านเรายอมรับได้มากกว่า ทั้งเป็นการจัดระเบียบการ์ตูนอย่างชัดเจน และ เพิ่มมาตรฐานของคุณภาพหนังสือให้มีคุณค่าพอที่จะเก็บสะสม มีความมั่นคงขึ้นมาบ้างว่าจะได้อ่านเรื่องนั้นจนจบ และ ถือเป็นการสนับสนุนเจ้าของผลงานอย่างถูกต้องตามกฎหมายด้วย แต่การมาของการ์ตูนลิขสิทธิ์ ที่มีขั้นตอนการผลิตที่ซับซ้อนมากกว่าเดิม ต้องทำรูปเล่มและต้องให้เจ้าของลิขสิทธิ์มาดูด้วย ด้วยความพิถีพิถันของเจ้าของผลงานบางท่านที่ค่อนข้างจะเรื่องมากนั้น ก็มีผลทำให้การ์ตูนที่ตีพิมพ์นั้นออกช้ากว่าเดิม ซึ่งผิดกักับการ์ตูนไพเรทที่ตีพิมพ์ได้อย่างรวดเร็ว ไม่ติดเงื่อนไขใดๆ ที่แย่ไปกว่านั้น หากสำนักพิมพ์ไม่ยอมทำตาม ก็อาจทำให้ลิขสิทธิ์หลุดก็เป็นได้ ทำให้เราพลาดงานดีๆไปหลายงาน

   และอีกส่วนหนึ่งที่บางคนยังไม่พอใจการ์ตูนลิขสิทธิ์ ก็มาจากราคากับคุณภาพของหนังสือการ์ตูนที่ยังไม่สมน้ำสมเนื้อ หรือ หากเรื่องไหนที่ยอดขายไม่ดีเอามากๆ หรือ เรื่องที่ซื้อลิขสิทธิ์มา กลับมีฉากที่ไม่เหมาะสมกับสังคม วัฒนธรรมไทย ก็จะระงับการพิมพ์ไป หรือที่เรียกกันว่า ถูกลอยแพ นั่นเอง อีกกรณีหนึ่งก็เป็นผลมาจากฉากบางฉาก โดยเฉพาะกับฉากวาบหวิวที่มีอยู่ในการ์ตูนบางเรื่อง แถมยังรวมไปถึงเนื้อหาความรุนแรงที่แฝงในการ์ตูนบางเรื่อง ที่อาจไม่เหมาะสมกับกลุ่มผู้อ่านโดยเฉพาะผู้อ่านวัยเด็ก หลายสำนักพิมพ์ก็เลยแก้ปัญหากับฉากวาบหวิวที่ปรากฏในเรื่องเหล่านั้น ก็จะมีการเซ็นเซอร์ฉากเหล่านั้นด้วยวิธีการต่างๆ อาจทำให้ขัดใจนักอ่านบางคนก็เป็นได้ แต่ก็มีบางค่ายแก้ไขด้วยการแบ่งกลุ่มอายุของผู้อ่านที่เหมาะสมกับการ์ตูนเรื่องนั้นๆ โดยดูที่เนื้อหาและฉากเป็นหลัก ถึงจะไม่ใช่วิธีที่ดีที่สุด แต่ก็ถือเป็นวิธีที่แก้ไขได้ในระดับหนึ่ง

lc comic manga
หนังสือการ์ตูนรวมเล่ม และ นิตยสารการ์ตูนรายสัปดาห์ในยุคลิขสิทธิ์
ถึงราคาจะแพงไปซักหน่อย หรือ คุณภาพการพิมพ์ การแปล อาจไม่ดีดั่งที่หวัง
แต่มาตราฐานโดยรวมนั้นย่อมดีกว่าการ์ตูนไพเรทไร้ลิขสิทธิ์อย่างแน่นอน



   ทุกวันนี้ สำนักพิมพ์ต่างๆก็พยายามที่จะทำผลงานออกมาให้ถูกใจความต้องการของนักอ่านมากที่สุด โดยบางค่ายก็เริ่มจะผ่อนปรนตามญี่ปุ่นด้วยการยอมพิมพ์หนังสืออ่านขวาไปซ้ายแบบญี่ปุ่น(โดยเรื่องแรกที่ทำคือ Rash หมอสาวจอมดีเดือด ผลงานของ อ.สึคาสะ โฮโจ เคยลงใน C-Kids ด้วย) ก็ทำให้เราได้อ่านการ์ตูนสนุกๆกันมากขึ้น แม้ว่า การ์ตูนลิขสิทธิ์อาจมีบางสิ่งบางอย่างที่ยังทำให้นักอ่านบ้านเราไม่ถูกใจบ้าง แต่หนังสือการ์ตูนลิขสิทธิ์ และ สำนักพิมพ์ก็ยังคงมีมาตรฐานที่ไว้ใจได้มากกว่า ซึ่งการที่หนังสือการ์ตูนลิขสิทธิ์สามารถอยู่คู่กับบ้านเราได้อีกนานเท่านาน ก็มาจาก การสนับสนุนผลงานของพวกเขาจากนักอ่านอย่างเราๆท่านๆกันอย่างสม่ำเสมอไงล่ะครับ


  อ้างอิงข้อมูล และ ภาพ บางส่วน จาก นิตยสาร Comic Quest ฉบับที่ 14 คอลัมน์ "บันทึกปูมหลังการเข้ามาของฉบับลิขสิทธิ์"

kartoon-discovery.com
June 2007


 
free hit counter javascript