Cartoon Focus -- โดราเอมอน (Doraemon)

ผู้แต่ง
ฟูจิโกะ ฟูจิโอะ(Fujiko Fujio)
ประเภท
ตลก ดราม่า ผจญภัย
จำนวนเล่ม

ภาคปกติ 45เล่ม (จบ)
Plus 2 เล่ม
Bigbook 16 เล่ม
ชุดพิเศษ 24 เล่ม
the theater 2 เล่ม
แก็งป่วนก๊วนโดราเอมอน 3 เล่ม
Doraemon The Gang ผจญภัยสุดขอบฟ้า  3 เล่ม
Color Collections 2 เล่ม
ENGLISH THAI COMICS DORAEMON 6 เล่ม
ชุดเปิดกระเป๋าหรรษา  4 เล่ม
สำนักพิมพ์
เนชั่น เอ็ดดูเทนเมนต์(ไทย)/
Shogakukan(ญี่ปุ่น)
อนิเมลิขสิทธิ์ Rose VDO
ข้อมูลอ้างอิงบางส่วน http://th.wikipedia.org/โดราเอมอน


ทำไมหลายๆคนถึงชอบเรื่องนี้

1.เรื่องนี้ได้ให้จินตนาการอันกว้างไกล สังเกตให้ดีๆว่าผู้เขียนท่านนี้เป็นคนช่างคิดช่างจินตนาการเกี่ยวกับโลกอนาคต ความเป็นอยู่ในอนาคตข้างหน้าว่า อยู่อย่างสะดวกสบาย มีอุปกรณ์วิเศษ ทำให้หลายคนอ่านแล้วอยากได้โดราเอมอนมาเป็นเพื่อน รวมถึงยังจินตนาการถึงสิ่งที่อยู่ในดินแดนแปลกๆที่ไม่ใช่โลกมนุษย์ ทำให้ดูเหมือนว่ามันมีจริงๆ และอ่านสนุก ได้คิดตามไปด้วย

2.วิวัฒนาการทางวิทยาศาสตร์ คล้ายๆกับข้อแรก เพียงแต่ได้เน้นถึงความสามารถของนักวิทยาศาสตร์ในอนาคตว่า สามารถประดิษฐ์สิ่งเหล่านั้นได้ ซึ่งทำให้เป็นแรงผลักดันให้นักวิทยาศาสตร์หลายๆคนในญี่ปุ่นต้องการที่จะพัฒนาให้ของวิเศษของโดราเอมอนนั้นมีจริง รวมถึงเป็นแรงบันดาลใจให้ผู้อ่านบางคนเรียนวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมเพื่องานด้านนี้โดยเฉพาะ

3.สร้างแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์สิ่งต่างๆ ในหลายๆตอนของโดราเอมอนนั้นจะเห็นได้ว่า มีการเสริมสร้างแรงบันดาลใจในการทำสิ่งต่างๆคือ ความพยายามในการทำสิ่งนั้นให้สำเร็จ แม้ว่าเราจะมีปมด้อยหรือมีอุปสรรค์ขวางกั้นมากน้อยก็ตาม เช่น ไจโกะพยายามอยากเป็นนักวาดการ์ตูน ไจแอนท์พยายามเป็นนักร้องแม้ว่าจะร้องห่วย และผู้อ่านพยายามขยันเรียนเพื่อไม่ให้สอบได้คะแนนแย่แบบโนบิตะ เป็นต้น

4.เน้นความสัมพันธ์กันระหว่าง เพื่อนและครอบครัว ในข้อนี้นั้นจะพบว่ามีแทบทุกตอน โดยเนื้อเรื่องของโดราเอมอนนั้น ได้สอนจริยธรรมในด้านนี้ด้วย โดยเน้นว่า ถึงเขาจะทำให้เราเจ็บช้ำน้ำใจเพียงใด แต่เราควรจะมีเขาเป็นที่พึ่งดีกว่าที่เราจะไม่มีพวกเขา อย่างเช่น ในโดราเอมอนภาคหนังโรง จะพบว่าไจแอนท์ที่ปกติจะชอบรังแกโนบิตะนั้น มักช่วยเหลือโนบิตะในยามที่เดือดร้อน หรือ ถึงแม้ว่า คุณแม่ของโนบิตะจะชอบดุชอบด่าโนบิตะอย่างไร แต่ก็มีบางตอนที่โนบิตะได้ช่วยเหลือคุณแม่ของเขาเองบ้าง เป็นต้น

5.ตรงกับชีวิตประจำวันของใครหลายๆคน โดยเนื้อเรื่องของโดราเอมอนนั้น ส่วนมากจะอิงไปในชีวิตประจำวันของเด็กๆ ซึ่งจะต้องเล่นด้วยกัน ช่วยเหลือกัน แม้ว่าจะไม่ค่อยถูกกันก็ตาม และเพื่อนในกลุ่มก็มีบุคลิกที่แตกต่างกัน เช่น ตื่นสายบ่อย มีหัวโจกที่ชอบรังแกเพื่อน มีคนเรียนเก่ง มีสาวน้อยน่ารักคนขยัน เป็นต้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คาแร็คเตอร์ประจำตัวของโนบิตะ ซึ่งเป็นคนที่ทำอะไรไม่ได้ดีไปซะทุกอย่าง สิ่งที่โนบิตะทำได้ ก็ดันเป็นสิ่งที่ไม่ค่อยมีใครสนใจ อย่าง เล่นพันด้าย หรือยิงปืนแม่น ซึ่งตรงกับชีวิตในโลกแห่งความจริงของผู้อ่านหลายๆคน โดยส่วนใหญ่ล้วนรู้สึกว่าตนเองคือผู้แพ้ ผู้ถูกเอารัดเอาเปรียบ ถูกรังแก ไร้ความสามารถ หน้าตาไม่ดี ไม่มีความสามารถ และย่อมต้องการ หวังว่าสักวันหนึ่งจะมีผู้มาช่วยเหลือเรื่องต่างๆให้แก่เรา ซึ่งในเรื่องนี้ก็คือโดราเอมอนนั่นเอง จึงทำให้หลายๆคนชอบ

หากจะว่าไป โดราเอมอนนี้ก็เปรียบเสมือนกับผู้ปกครองคนหนึ่งของโนบิตะ เป็นได้ทั้ง "แม่ผู้ใจดี" และ "แม่ใจร้าย" คือ คอยดูแลปกป้องโนบิตะในยามที่เดือดร้อน ขัดสน และคอยสั่งสอนบทเรียนแก่โนบิตะที่มักจะก่อเรื่องวุ่นวายซ้ำๆซากๆให้รู้จักสำนึก

6.เป็นสารานุกรมย่อยๆ มีการให้ความรู้เพิ่มเติมในเรื่องต่างๆแทรกไปด้วย ทำให้อ่านแล้วก็จะได้สาระ ความรู้แฝงไปด้วยเช่น สิ่งมีชีวิต ไดโนเสาร์ หลักการทางวิทยาศาสตร์ และดาราศาสตร์ เป็นต้น


กระแสความนิยม

โดราเอมอนจัดเป็นการ์ตูนที่ได้รับความนิยมอย่างมากในประเทศญี่ปุ่น และอีกหลายประเทศในเอเชีย ยุโรป อเมริกาใต้ รวมถึงประเทศไทย ไม่ว่าจะผ่านไปนานเพียงใด โดราเอมอนก็คงได้รับนิยมอยู่มิเสื่อมคลาย ต่อให้เป็นคนที่ไม่สนใจการ์ตูนก็ยังรู้จักโดราเอมอนเลย โดยมีทั้งการพิมพ์ใหม่ หรือ นำมาฉายซ้ำอยู่เรื่อยๆ และ มีการรีเมคดัดแปลงขึ้นมาใหม่โดยการเพิ่มความทันสมัยของเนื้อเรื่องลงไปด้วย เพื่อให้เด็กยุคหลังๆได้ดู

สำหรับในประเทศไทยนั้น การ์ตูนโดราเอมอนฉบับหนังสือการ์ตูนภาษาไทย เริ่มตีพิมพ์ครั้งแรกในยุคของหนังสือการ์ตูนไพเรท(ไร้ลิขสิทธิ์)ยังเฟื่องฟู เมื่อช่วงกลางปีพ.ศ. 2524 โดยสำนักพิมพ์ธิดาน้อย ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของสำนักพิมพ์มิตรไมตรี โดยตั้งชื่อว่า "โดราเอมอนแมวยอมยุ่ง" ต่อมาสำนักพิมพ์วิบูลย์กิจก็มีการตีพิมพ์โดราเอมอนเช่นกัน โดยใช้ชื่อว่า "โดเรมอน"(ซึ่งเป็นชื่อที่คนไทยเรียกคุ้นปากที่สุด) และในสมัยนั้นนั่นเอง ทำให้ทั้ง 2 สำนักพิมพ์จึงแข่งกันทางด้านความถี่ของการออกจัดจำหน่าย จากเดือนละเล่มในช่วงต้น ก็เปลี่ยนเป็นเดือนละ 2 เล่ม จนถึงอาทิตย์ละเล่ม สุดท้ายทางสำนักพิมพ์ธิดาน้อย ก็พิมพ์ถึงเดือนละ 3 เล่ม พิมพ์ไม่น้อยกว่า 70,000 เล่มต่อครั้ง ด้วยความถี่ในการพิมพ์ และการไม่มีการจัดลำดับถูกต้องตามต้นฉบับ ทำให้ในเวลาเพียง 7-8 เดือนการ์ตูนเรื่องนี้ก็ตีพิมพ์ครบทุกตอนตามต้นฉบับของฟูจิโกะ ฟูจิโอะที่ใช้เวลาเขียนติดต่อกันร่วม 10 ปี!!!

หลังจากนั้น หนังสือพิมพ์ไทยรัฐก็ได้มีการตีพิมพ์การ์ตูนเรื่องนี้ลงเป็นตอนๆ ในแต่ละวันโดยเริ่มวันแรกวันที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2525 ซึ่งจัดเป็นการ์ตูนญี่ปุ่นเรื่องแรกที่มีการตีพิมพ์ลงในหนังสือพิมพ์ โดยตั้งชื่อใหม่ไม่ให้ซ้ำกัน คือ "โดรามอน เจ้าแมวจอมยุ่ง" และ สยามสปอร์ตพับลิชชิง หรือสยามอินเตอร์คอมิกส์ ในปัจจุบัน เป็นสำนักพิมพ์สุดท้ายที่ตีพิมพ์โดราเอมอนฉบับหนังสือการ์ตูน ยุคไพเรท และใช้ชื่อตามหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ มีการแถมรูปลอกมาพร้อมในเล่ม อีกทั้งยังมีการประชาสัมพันธ์ที่ใหญ่โตที่แดนเนรมิต ใช้ชื่องานว่า "โลกของโดรามอน" จัดให้มีกิจกรรมมากมาย นอกจากนี้ก็ยังมีบางสำนักพิมพ์ในสมัยนั้น จับเอาโดราเอมอนไปยำรวมกับการ์ตูนดังในสมัยนั้นอย่าง ดราก้อนบอล,นินจาเต่า เป็นต้น จนกลายเป็นการCross Over ตัวการ์ตูนยำใหญ่ใส่สารพัดที่เนื้อเรื่องนั้นมั่วสุดๆ และมีที่เมืองไทยแห่งเดียว อาจเรียกได้ว่าเป็นโดจินชิฝีมือคนไทยยุคแรกๆเลย (ปัจจุบันหาอ่านได้ยากแล้ว) รวมไปถึง ยังมีการ์ตูนไทยเรื่อง "ไดโรม่อน" ที่ก็อปมาทั้งเนื้อเรื่อง ตัวละครของโดราเอมอนมาดัดแปลงทั้งดุ้น แถมแต่ละช็อตก็เหมือนกันสุดๆ ทำเอาคอโดราเอมอนในตอนนั้นถึงกับรับไม่ได้เลย

ปัจจุบันการ์ตูนเรื่องนี้ เป็นลิขสิทธิ์ของสำนักพิมพ์เนชั่น เอ็ดดูเทนเมนท์ ทั้งภาคปกติ และ รวมเล่มพิเศษอีกหลายฉบับ

ในปีพ.ศ. 2525 ทางไชโยภาพยนตร์ได้มีการฉายโดราเอมอนฉบับภาพยนตร์ขึ้นถึง 2 ตอนด้วยกัน คือตอน ไดโนเสาร์ของโนบิตะ และโนบิตะนักบุกเบิกอวกาศ ซึ่งก็ได้รับความนิยมอย่างกว้างขวาง นอกจากนี้ทางช่อง 9 ก็ได้มีการออกอากาศโดราเอมอนฉบับการ์ตูนทีวี ทางโทรทัศน์ เริ่มเมื่อวันที่ 5 กันยายน ในปีเดียวกัน ซึ่งได้รับความนิยมเป็นอย่างดีเช่นกัน ทำให้ช่อง 9 ได้รับการยอมรับในเรื่องของการออกอากาศภาพยนตร์การ์ตูนทางโทรทัศน์ และทีมนักพากย์การตูนอีกด้วย(นิตยสาร a day, 2545: 70) สำหรับในปัจจุบัน โดราเอมอนฉบับภาพยนตร์มีการจัดฉายในโรงภาพยนตร์เป็นประจำทุกปีอีกครั้ง โดยบริษัทดับบลิวพีเอ็มฟิล์ม อินเตอร์เนชั่นแนล เริ่มในปีพ.ศ. 2544 เป็นต้นมา ส่วนโดราเอมอนฉบับการ์ตูนทีวีนั้น ก็มีการฉายซ้ำเป็นระยะ และฉายตอนใหม่อยู่เรื่อย ๆ ทางสถานีโทรทัศน์ โมเดิร์นไนน์ ทีวี และลิขสิทธิ์ในตัวละครที่นำไปผลิตเป็นสินค้าเป็นของ บริษัทเอไอ (Animation International) ของประเทศฮ่องกง


 
free hit counter javascript